ซุนนะฮฺในวันอีด


เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

เรื่อง ซุนนะฮฺในวันอีด

วันสำคัญของประชาชาติอิสลามตามที่อัลกุรอานระบุและท่านนบีสั่งสอนไว้มีสองวันคือ อีดุ้ลฟิฏรฺและอีดุ้ลอัฎฮา ด้วยพระกำหนดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตอาลา ดังที่มีหะดีษบันทึกโดยอิมามอันนะซาอียฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อพยพจากมักกะฮฺไปมะดีนะฮฺ และได้พบว่าชาวมะดีนะฮฺฉลองอีด 2 วันซึ่งเป็นวันฉลองของชาวอาหรับโบราณ ท่านนบี จึงได้ตั้งกฎระเบียบสำหรับเรื่องการฉลองของมุสลิม โดยท่านนบี ได้กล่าวว่า

قال أنس -رضي الله عنه-: قدم النبي صلى الله عليه وسلم المدينة، ولهم يومان يلعبون فيهما، فقال: (قد أبدلكم الله بهما خيرًا منهما: يوم الفطر، ويوم الأضحى . النسائي

ความหมาย "อัลลอฮฺทรงเปลี่ยนสองวันนี้(ที่พวกท่านกำลังฉลองอยู่ตามประเพณีอาหรับโบราณ) ด้วยสองวันอันประเสริฐยิ่งกว่า คือ วันอีดิ้ลฟิฏรฺ และวันอีดิ้ลอัฎฮา"

อุละมาอฺได้ตีความสำนวนหะดีษที่ว่า "อัลลอฮฺได้เปลี่ยนให้แก่พวกเจ้า" แสดงว่าการเปลี่ยนสองวันนี้เป็นการกำหนดของอัลลอฮฺ ที่ต้องเคารพและให้เกียรติ เพราะฉะนั้นถ้ามุสลิมให้ความสำคัญหรือเชื่อว่าวันอื่นๆมีความประเสริฐกว่า สองวันนี้ ก็เสมือนว่าได้ปฏิเสธการกำหนดของอัลลอฮฺ ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะมุสลิมสมัยนี้ได้รวมเอาเรื่องที่เป็นประเพณี ปฏิบัติหรือค่านิยมของสังคมเข้ามามีความสำคัญในชีวิต เราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงกับหลักการอิสลาม

คำว่า "อีด" ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉลองเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น หากแต่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อมาพิจารณาในหลักการอิสลามก็พบว่าจริง เพราะในวันอีดก็จะต้องมีการละหมาดอีด ซึ่งมีความสำคัญมาก แม้แต่คนที่ตลอดปีไม่ละหมาด อย่างน้อยก็ต้องมาละหมาดวันอีดทั้งสอง เมื่อพิจารณาในศาสนาอื่น เช่น วันคริสต์มาสของศาสนาคริสต์ก็มีข้อเกี่ยวพันกับศาสนาของเขา, วันสำคัญของศาสนาอื่นก็ไม่นำศาสนาอิสลามไปปะปนกับเขา เราก็ต้องตระหนักว่าวันสำคัญในความเชื่อของมุสลิมนั้นเป็นเรื่องของศาสนา และมีสองประการสำคัญที่เราต้องตระหนักและเคร่งครัดในการปฏิบัติ คือ

* ประการแรก ไม่อนุญาตให้เฉลิมฉลองในวันฉลองของศาสนาอื่นที่มิใช่อิสลาม อันเป็นมติเอกฉันท์ของอุละมาอฺทั้งหลาย ซึ่งขั้นต่ำที่สุดของหุกุ่มแห่งการฉลองวันสำคัญของศาสนาอื่นก็คือหะรอม ถือเป็นกะบีเราะฮฺ(บาปใหญ่) อุละมาอฺบางท่านมีทัศนะว่าอาจเป็นการปฏิเสธ(กุฟรฺ)ด้วย เช่น งานฉลองบางงานมีการสวดหรือทำพิธีทางศาสนาอื่น เราก็ไปร่วมอยู่ด้วย ทั้งๆที่อัลกุรอานบอกว่าไม่ให้อยู่ร่วมในสถานที่ๆมีการปฏิเสธหลักการของอัล ลอฮฺ แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับเขา แต่เราไปร่วมก็แสดงว่าให้ความสำคัญ
* ประการที่สอง มุสลิมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เกียรติ และให้ความสำคัญกับวันอีดที่อัลลอฮฺได้บัญญัติไว้ ในซูเราะฮฺอัลฮัจญฺ อายะฮฺที่ 32 อัลลอฮฺตรัสว่า

ذَلِكَ وَمَن يُعَظِّمْ شَعَائِرَ اللَّهِ فَإِنَّهَا مِن تَقْوَى الْقُلُوبِ

ความหมาย "เช่นนั้นแหละ ใครที่ให้เกียรติ(ให้ความยิ่งใหญ่ความสำคัญ)บทบัญญัติของอัลลอฮฺ(การฉลองอีด ทำกุรบาน ประกอบพิธีฮัจญฺ)นั้น นั่นแสดงถึงความยำเกรงที่อยู่ในหัวใจของเขา"

ในเมื่อวันอีดเป็นพิธีกรรมทางศาสนาก็ต้องมี สิ่งที่ต้องกระทำในวันนั้น เช่นเดียวกับวันศุกร์ที่มีข้อควรปฏิบัติเป็นพิเศษตามซุนนะฮฺของท่านนบีคือ อ่านซูเราะฮฺอัสสะญะดะในละหมาดซุบฮฺ, อ่านซูเราะฮฺกะหฟฺ, อาบน้ำซุนนะฮฺ, ให้มีคุฏบะฮฺ, ให้พบปะพี่น้อง, ให้ขยันขอดุอาอฺโดยเฉพาะในเวลาดุอาอฺมุสตะญาบ ซึ่งเราต้องศึกษาซุนนะฮฺของท่านนบี ในวันนั้นเพื่อที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง


ซุนนะฮฺในวันอีด ตามหลักฐานจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือ

1. ให้แต่งกายอย่างสวยงาม ใช้เสื้อผ้าที่พิเศษ ท่านนบี จะมีชุดพิเศษสำหรับวันศุกร์และสำหรับต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมท่าน ในบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺ ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ได้เห็นเสื้อผ้าชุดหนึ่งขายในตลาดก็ได้แนะนำท่านนบี ว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ซื้อตัวนี้สิครับ ท่านจะได้สวมเสื้อสวยๆในวันอีดและเมื่อมีแขกมาเยี่ยมท่าน -- จากหะดีษบทนี้แสดงว่าเป็นที่รู้กันในบรรดามุสลิมีนสมัยนั้นว่า ให้เตรียมชุดที่สวยงามไว้สำหรับวันอีด และท่านนบี ก็ไม่ได้ปฏิเสธ

* อิมามมาลิกบอกว่าฉันได้ยินว่าบรรดาผู้รู้จะแต่งตัวดีและใส่น้ำหอมในวันอีด
* ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร (เศาะฮาบะฮฺ) เมื่อถึงวันอีดจะเลือกเสื้อผ้าที่สวยที่สุดมาสวม
* ถ้าไม่มีเสื้อผ้าใหม่ๆ ก็ให้เลือกเสื้อผ้าที่ซักรีดอย่างดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการที่เราแต่งตัวดีกว่าวันอื่นเพราะเราให้ความสำคัญกับ วันนี้


2. อาบน้ำซุนนะฮฺ - ในวันอีดไม่มีแบบอย่างจากท่านนบี ว่าได้กระทำ (ที่มีหลักฐานคือท่านนบีจะอาบน้ำซุนนะฮฺวันศุกร์) แต่มีหลักฐานจากการปฏิบัติของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ เช่น ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร และเป็นที่รู้กันของเศาะฮาบะฮฺส่วนมาก

3. ห้ามถือศีลอดในวันอีด - ถ้าถือศีลอดในวันนี้ถือว่าโมฆะและเป็นการทำสิ่งที่ชั่วร้าย มีหะดีษบันทึกโดยอิมามบุคอรียฺ ท่านนบี กล่าวว่า

«لا صوم في يومين: الفطر والأضحى » .

ความหมาย "ไม่มีการถือศีลอดในสองวัน : คืออีดุ้ลฟิฏรฺและอีดุ้ลอัฎฮา"

อิมามอันนะซาอียฺ กล่าวว่าอุละมาอฺมีมติเอกฉันท์ว่าการถือศีลอดในวันอีดนั้นห้ามโดยเด็ดขาด


4. การรับประทานอาหารก่อนละหมาดอีด - สำหรับอีดุ้ลฟิฏร ให้รีบทานอาหารก่อนไปละหมาด ส่วนอีดุ้ลอัฎฮา รอจนละหมาดอีดเสร็จแล้ว จึงรับประทานเนื้อกุรบานก่อน

في صحيح البخاري ، عَنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ رضي الله عنه قَالَ
: " كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَا يَغْدُو يَوْمَ الْفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلَ تَمَرَاتٍ" .

ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านอนัส อิบนุมาลิก ว่า "ท่านนบี จะไม่ออกไปในวันอีดิ้ลฟิฏรฺ จนกว่าจะได้รับประทานอินทผลัมหลายเม็ด (โดยจะรับประทานเป็นจำนวนคี่ (3/5/7 เม็ด))"

فعن بريدة -رضي الله عنه- قال: كان النبي صلى الله عليه وسلم لا يخرج يوم الفطر حتى يَطعم،
ولا يطعم يوم الأضحى حتى يصلي .الترمذي.

และในบันทึกของอิมามอัตติรมิซียฺ เชคอัลบานียฺว่าเศาะฮี้ฮฺ จากรายงานของท่านบุร็อยดะฮฺว่า "ท่านนบี จะไม่ออกไปในวันอีดุ้ลฟิฏรฺจนกว่าจะได้รับประทานอาหาร และท่านจะไม่กินอะไรเลยในวันอีดิ้ลอัฎฮา จนกว่าจะละหมาด(จึงจะรับประทานอาหาร(เนื้อกุรบาน))"

0 ความคิดเห็น: