กระแสเฟสบุ๊คกับมุสลิม

กระแส Facebook กับมุสลิม มีเฟสบุ๊คมั้ย?

เป็นอีกคำถามหลักในกระแสปัจจุบัน หลังจากการถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนามและเบอร์โทรศัพท์ยามที่ผู้คนพบปะกัน" Facebook (เฟสบุ๊ค) เป็นเว็บไซต์ Social Network ซึ่งเป็นบริการบนอินเทอร์เน็ตบริการหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารและร่วมทำกิจกรรมใดกิจกรรม หนึ่งหรือหลายๆกิจกรรมกับผู้ใช้ Facebook คนอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งประเด็นถามตอบในเรื่องที่สนใจ โพสต์รูปภาพ โพสต์คลิปวิดีโอ เขียนบทความหรือบล็อก แชทคุยกันแบบสดๆ เป็นต้น นี่คืออีกแหล่งนัดพบ ทำความรู้จักสนิทสนม และเป็นแหล่งของการร่วมแชร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นที่ฮิตเหลือเกินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ตั้งแต่เด็กน้อยอนุบาลจนคนทำงาน ใครๆก็พูดถึงแต่ Facebook

ข้างต้น เป็นกราฟแสดงการเติบโตของสมาชิก Facebook ในเอเชีย เปรียบเทียบกัน 4 ประเทศ คือ Thailand, Taiwan, Singapore และ Hong Kong และอย่างที่เห็นดังภาพ ว่าประเทศไทยนั้นเติบโตอันดับหนึ่ง ชนิดนำลิ่วแบบ Taiwan, Singapore, Hongkong นั้นไม่ติดฝุ่นกันเลยทีเดียว ตัวเลขเปอร์เซนต์การเติบโตนี้เป็นของเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมานี้เอง และหากเปรียบเทียบกันทั่วโลก ประเทศไทยก็ยังอยู่อันดับ 3 ของการเติบโตที่สูงที่สุดใน 12 เดือนทีผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตถึง 320.5% จากเดือน กันยายน 2553 เดือนเดียวโตกันเป็นหลักร้อยเปอร์เซ็นต์1

จากการเติบโตอันรวดเร็วและแพร่สะพัดแบบทันด่วนเช่นนี้ ทำให้เป็นกระแสที่ขยายตัวต่อยอดไปทุกวันเวลาโดยยากที่จะสะกัดได้ แน่นอนทีเดียว กระแสแรงๆ อีกกระแสหนึ่งนี้เยาวชนมุสลิมเราต้องไม่พลาดที่จะขอเอี่ยวเพื่อไม่ให้ตกยุคกับใครเขาเป็นแน่ล่ะ และอย่างที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เราต่างก็เห็นว่ามี Facebook ของพี่น้องเราเกิดขึ้นอย่างมากมาย และเกิดการเชื่อมโยงขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วไม่แพ้ใครเลยทีเดียว เชียวคลื่นกระแสมาแรงดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นอีกสังคมที่ไม่เล็กก็ใหญ่อีกสังคม หนึ่ง ซึ่งใครหลายคนถึงกับต้องสละเวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันของตน เพื่อเกาะติดทุกสถานการณ์เคลื่อนไหว หรือรอคอยคอมเม้นท์และการกดถูกใจจากใครบางคนที่แวะผ่านเข้ามาอ่าน จนอาจกลายเป็นโรคจิตเล็กๆ สำหรับบางคนเลยก็ว่าได้ แลดูเหมือน Facebook จะ มีอิทธิพลบางอย่างครอบงำจิตใจสำหรับคนที่ติดอย่างมาก ซึ่งไม่แพ้กับอาการของคนที่ติดเกมเลย และบางทีสำหรับบางคนอาจถึงขั้นละเลยต่อคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺโดยไม่รู้ตัวเลย ก็ว่าได้

จะอย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Social Network ดังกล่าว ก็มีข้อดีอย่างมากมายเช่นกันสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการใช้พื้นที่ Facebook เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารและทำความดี แม้ว่าสื่อนี้อาจเป็นการแพร่กระจายสิ่งชั่วร้ายอย่างรวดเร็วในหมู่พี่น้อง เราให้ตกต่ำก็ตาม แต่มันก็เป็นสื่อหนึ่งที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการเผยแพร่สัจธรรมไป อย่างกว้างขวางและรวดเร็วได้ด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นก็เถอะ สื่อทันโลกยุคนี้นับได้ว่าเป็นดาบสองคมที่เราต้องพิถีพิถันตรวจสอบกันอย่าง ลงรายละเอียดมากหน่อย ทั้งก่อน-ขณะ-หลังใช้งาน เพื่อกลั่นกรองทุกอณูหัวใจ ว่าแน่แท้แล้วเราทำเพื่อสิ่งใดและจะยังประโยชน์ต่อสังคมอัล-อิสลามจริงหรือไม่ แน่ใจหรือไม่ว่าเราไม่ได้มีไปกับเขาเพียงเพราะกระแส และสิ่งดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อหัวใจ รวมถึงหลักศรัทธาและอิบาดะฮฺต่างๆของเราอีกด้วย สื่อเครือ ข่ายเทคโนโลยีที่มากมายสลับซับซ้อนในทุกวันนี้ นับว่าเป็นอีกบ่อเกิดหนึ่งแห่งหัวใจที่ซับซ้อนของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้ศรัทธาต้องรู้จักแยกแยะและระวังตนให้ดี เมื่อเราอยู่หน้าจอแล้ว ทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสมองเราทั้งสิ้น หากเราจะกดคลิกหรือกดพิมพ์สิ่งใด ขอจงอย่าลืมว่าทุกสิ่งต้องไม่พลาดจากการถูกสอบสวนอย่างแน่นอน เพื่อเป็นการเตือนสติเราให้ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนานัปการจึงทำให้มีบทความนี้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการตักเตือนและเตือนสติบรรดาพี่น้องมุสลิมทั้งหลายรวมถึงตนเองใน เรื่องการใช้สื่ออินเตอร์เนทอย่างมีสติและเกิดประโยชน์ต่ออัล-อิสลาม จากการติดตามความคืบหน้าของพี่น้องมุสลิมกับ Facebook อยู่ห่างๆราวสองเดือน พบว่า Facebook นั้น เป็นได้ทั้งลู่ทางที่จะนำไปสู่ความดีและลู่ทางที่จะนำไปสู่ความหายนะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา การโพสต์ข้อมูลต่างๆ และรูปแบบการใช้งานของแต่ละคน ว่าจะนำตนไปสู่ลู่ทางใด

ตัวอย่าง ข้อเปรียบเทียบบางประการที่ผู้ใช้งาน Facebook ควรตรวจสอบตนเอง

Facebook กับ ผู้ศรัทธา

· ตั้งเจตนาที่ดีก่อนที่จะสมัคร ว่าทุกสิ่งเพื่ออัลลฮฺ

· เผยแพร่ข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์ต่ออัล-อิสลาม โดยปราศจากการโชว์ออฟ เช่น การโพสต์บทความศาสนา สถานการณ์โลกมุสลิมในปัจจุบัน อายะฮฺอัลกุรอาน อัลฮะดีษ หรือเชิญชวนไปสู่การทำความดีในรูปแบบต่างๆ ด้วยความยำเกรงและบริสุทธิ์ใจ

· ใช้งานพร้อมตรวจสอบตนเองควบคู่ไปพร้อมๆกันอยู่เสมอทั้งก่อน ขณะ และหลังใช้งาน ให้ทุกสิ่งเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ

· ใช้งานแต่พอเหมาะและจะต้องไม่กระทบต่อการอิบาดะฮฺในแต่ละวันของเรา โดย รู้จักแบ่งเวลาและสามารถจัดการกับตัวเองได้

Facebook กับ ผู้หลงลืม

· สมัครโดยปราศจากการตั้งเจตนาที่ดี (ซึ่งอาจมาจากการล่อลวงของชัยฏอน)

· เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวอันไม่พึงเปิดเผยและไม่เป็นประโยชน์ต่ออัล-อิสลาม เช่น โพสต์รูปภาพถ่ายเล่นของตัวเอง การใส่ข้อความบ่งบอกถึงอารมณ์(ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์) การบอกเล่าอัพเดทข้อมูลส่วนตัวที่อาจก่อให้เกิดฟิตนะฮฺ

· ใช้งานไปวันๆและอัพเดทข้อมูลข่าวสารไปเรื่อยๆ โดยปราศจากการตรวจสอบตนเอง ว่าใช้งานเพื่อสิ่งใด

· ใช้งานอย่างฟุ่มเฟือยเวลา หรือส่งผลให้การอิบาดะฮฺของเราลดน้อยลง หรือใช้งานเพลินจนทำให้การอิบาดะฮฺเกิดการล่าช้าออกไป

จงตรวจสอบ และเลือกทางเดินที่เที่ยงแท้ ให้กับตัวเอง เรากำลังจะทำให้ Facebook กลายเป็น Faithbook ? หรือเรากำลังใช้ Facebook ให้กลายเป็น Fakebook ? หรือว่ามันเป็นเพียง Facebook ที่ไร้จุดหมายปลายทางเท่านั้น ? แต่การเดินทางของผู้ศรัทธานั้นย่อมมีเป้าหมาย และต้องมีจุดหมายปลายทาง ที่เรามุ่งหวังอันเที่ยงตรงอย่างแน่นอน

....ด้วยความรักและปรารถนาดี.... โดย...satuindah

0 ความคิดเห็น: