แต่เนื่องจากร้อยกว่าปีที่ผ่านมาประชา ชาติอิสลามไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลามและไม่มีผู้นำสูงสุด(เคาะลีฟะ ฮฺ)ที่ดำรงไว้ซึ่งกฎหมายอิสลามและดูแล
กิจการของประชาชาติอิสลาม ทำให้สังคมมุสลิมทั่วโลกดำเนินกิจการงานศาสนาโดยไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนที่จะควบ คุมกิจการนั้นให้เป็นไปตามกรอบของศาสนาอย่างถูกต้อง มิหนำซ้ำเรายังนำเอากิจการของศาสนามาพึ่งพากฎหมายของมนุษย์ ซึ่งอาจมีบางเรื่องที่ไม่ตรงกับกฎหมายของอัลลอฮฺ หรือคนที่ทำงานศาสนาอาจมีพฤติกรรมหรือจรรยามารยาทที่ไม่สอดคล้องกับการเป็น คนทำงานศาสนา กล่าวคือ ถ้าองค์กรที่ทำงานด้านสังคมในประเทศไทยเกิดปัญหาสักเรื่องหนึ่ง ก็มีกติกาและระเบียบที่อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมบรรดาองค์กรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานั้น แต่ถ้าหากมูลนิธิหรือสมาคมนั้นเป็นของมุสลิมและดำเนินกิจการในรูปแบบของงาน ศาสนา อะไรที่จะเป็นกติกาหรือระเบียบของเราและจะอยู่ภายใต้กฎหมายของใครถ้า มองในมุมที่กว้างกว่านั้น คือในสังคมทั่วไปจะมีหน่วยงานรัฐบาลที่ทำงานเพื่อสังคมเช่นเดียวกัน บรรดาข้าราชการก็ได้รับเงินเดือนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สังคม คนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงใดหน่วยงานไหนก็ต้อง ผ่านกระบวนการศึกษาในสาขาที่ตรงหรือใกล้เคียงกับอาชีพของตน เช่น อัยการจะต้องจบคณะนิติศาสตร์ ข้าราชการบริหารแผ่นดินจะต้องจบรัฐศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งรัฐก็มีกฎหมายควบคุมข้าราชการและพนักงานโดยเฉพาะ มีระเบียบเฉพาะ และยังมีสวัสดิการเฉพาะด้วย แต่สำหรับคนที่ทำงานศาสนา โดยแน่นอนแล้วเขาไม่มีรัฐรองรับกิจกรรมของเขา ไม่มีงบประมาณส่วนกลางอุดหนุนกิจกรรมของเขา แถมยังไม่มีกฎหมายเฉพาะหรือระเบียบเฉพาะสำหรับกิจกรรมของเขาด้วย และมุสลิมที่คิดจะทำงานศาสนาก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายและระเบียบของบ้านเมืองที่ มุสลิมอาศัยอยู่ด้วย
อุปสรรคนี้ดูเหมือนว่าเป็นจุดท้าทาย ที่ทำให้มุสลิมต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทำงานอิสลาม แต่ถ้าหากว่ามุสลิมยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกติกาที่ไม่ใช่อิสลาม โดยแน่นอนมันย่อมส่งผลให้มุสลิมได้รับอิทธิพลและซึมซับซึ่งวัฒนธรรมต่างๆ ที่มักจะเกิดกับกติกาและกฎเกณฑ์ดังกล่าว ยก ตัวอย่างให้เห็นชัดคือ มุสลิมที่ทำงานศาสนาในสังคมไทยมักจะหลงตามกระแสเสรีนิยมที่เป็นวัฒนธรรมของ ประเทศชาติแทบทุกด้าน บางครั้งมุสลิมเห็นนักการเมืองทะเลาะกันตอบโต้กันอย่างรุนแรง ก็คิดว่ารูปแบบการทำงานของนักการเมืองสามารถนำมาใช้ในการทำงานศาสนาได้ บางครั้งก็เห็นคนที่ทำงานศาสนาฉวยโอกาสจัดงานศาสนาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์แก่ ตัวเองเหมือนนักการเมือง โดยไม่คำนึงว่าการทำงานศาสนานั้นต้องสุจริตมากกว่าเล่นการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะคนที่ทำงานศาสนาแสวงหาผลบุญจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ซึ่งการทำงานศาสนาที่รับเอาอิทธิพลจากรูปแบบการทำงานในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม มาใช้นั้นมีตัวอย่างมากมายให้เห็น แล้วปัญหาเช่นนี้ก็อาจมีในตัวทุกคนที่ทำงานศาสนา ตัวผมก็อาจจะมี คนที่ทำงานและอ้างว่ามีความบริสุทธิ์ก็อาจมีได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ซึมซับมาจากสังคมของเรา เนื่องด้วยการทำงานในสังคมที่ไม่มีอิสลามมายาวนานพอสมควร และสิ่งทีร้ายแรงกว่านั้นคือจรรยามารยาทที่เกิดจากวัฒนธรรมของสังคมที่ไม่มี อิสลาม แม้จะถูกเรียกว่าเป็น “จรรยามารยาท” หากแต่ไม่ใช่จรรยามารยาทของอิสลามอย่างแน่นอน
สำหรับคนที่ทำงานในสังคมที่ไม่ใช่สังคม มุสลิม เขาสามารถทำงานโดยอยู่ในกรอบกติกาอิสลามได้หากเขาเลือกอยู่ภายใต้กฎหมายของ อิสลาม เช่นนักการเมืองที่สังกัดพรรคต่างๆ เขาอ้างว่าถ้ามากระจุกกันอยู่ในพรรคเดียวจะไม่มีวันชนะและเข้าไปอยู่ใน รัฐบาลได้ แต่การกระจายตัวไปอยู่ในหลายพรรค อาจมีโอกาสให้มุสลิมเข้าไปอยู่ในรัฐสภาและรัฐบาลด้วย ฟังดูเหมือนเป็นเหตุผลที่กินกับปัญญา แต่ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งมันก็เป็นวัฒนธรรมที่ซึมซับมาจากวัฒนธรรมของคนทำ งานที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งตั้งเป้าหมายแห่งความสำเร็จอยู่ที่ตำแหน่ง แต่มุสลิมที่ทำงานศาสนาและตระหนักในอุดมการณ์ของอัลกุรอานกับแบบฉบับของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะตระหนักว่า การเล่นการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องครอบครองตำแหน่ง แต่จำเป็นต้องยืนตรง พูดและทำให้ถูกต้องตามหลักการ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะไม่สอบสวนหรือลงโทษนักการเมืองมุสลิมที่ไม่ได้ครองตำแหน่ง แต่ทว่าได้ยืนหยัดในหลักการอย่างเที่ยงตรง สำหรับนักการเมืองที่ได้ครอบครองตำแหน่ง จะถูกสอบสวนอย่างแน่นอนว่าได้มาอย่างถูกต้องและดำรงอย่างชอบธรรมหรือไม่
การทำงานศาสนาทุกประเภทก็เช่น เดียวกัน ถ้าเราทำงานศาสนาแต่มิได้ผลตอบแทนจากสังคม เราคงไม่เสียหายถ้ายืนหยัดในกรอบของศาสนา แต่ถ้าหากทำงานศาสนาแล้วบิดพลิ้วเบี่ยงเบนและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ศาสนาให้เป็นไปตามอารมณ์ กิเลส หรือวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อิสลาม มันจะเป็นความเสี่ยงต่อผลบุญของเราอย่างแน่นอน
ในสังคมมุสลิมของเราจะต้องมีการเผยแพร่ นิติศาสตร์อิสลาม รัฐศาสตร์อิสลาม และสังคมศาสตร์อิสลาม กล่าวคือสาขาวิชาต่างๆ ที่ทำให้คนทำงานศาสนามีศักยภาพในการทำงานภายใต้กฎเกณฑ์และระเบียบของอิสลาม มหาวิทยาลัยในประเทศอาหรับบางแห่งที่ก่อตั้งคณะการศึกษาแผนกดะอฺวะฮฺ (คือเผยแพร่อิสลาม) จะมีสาขาต่างๆ อยู่ในคณะนั้นด้วย เช่น สารสนเทศ การบริหาร และจิตวิทยา ฯลฯ เหล่านี้เป็นวิชาที่มีความสำคัญสำหรับคนที่ทำงานในสังคมทุกแขนง เพราะสื่อ บริหาร และจิตวิทยา เป็นปัจจัยสำคัญของคนที่บริหารคนและกิจการ ในห้องสมุดมุสลิมจะขาดแคลนตำราด้านนี้มาก อันเป็นความขัดสนด้านปัญญาที่เราต้องยอมรับและจำต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่ สุด เพราะการขาดวิชาการเหล่านี้จากสังคมมุสลิม จะทำให้คนทำงานศาสนายากจนด้านวิชาการ คือขาดศักยภาพที่จะทำให้ผลงานของตนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการนี้นักวิชาการด้านศาสนาหรือสามัญที่เป็นมุสลิมจำต้องรวมตัวและเขียน ตำราในสาขานี้ให้มากขึ้น โดยหัวข้อที่ต้องให้ความสำคัญได้แก่ คุณสมบัติของคนทำงานศาสนา จรรยามารยาทส่วนตัวของคนทำงานศาสนา จรรยาบรรณของคนทำงานในญะมาอะฮฺ จรรยาบรรณระหว่างกลุ่มทำงานศาสนา เป็นต้น
เรื่องนี้มิอาจสรุปได้ในบท ความสั้นๆ นี้ แต่ขอให้เป็นการปลุกกระแสให้คนทำงานศาสนาตระหนักถึงประเด็นนี้และคำนึงถึง ความสำคัญของมันด้วย ก่อนที่การทำงานศาสนานั้นจะเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญของสังคมหรือทำลาย วัฒนธรรมของอิสลาม
เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, วารสารร่มเงาอิสลาม พ.ค.54
0 ความคิดเห็น: