หลักการทำกุรบานในอิสลาม (الأضحيةْ )

1.ความหมายและที่มาของการทำกุรบาน(الأضحية)

อุดฮียะห์(สัตว์กรุบาน) : หมายถึง ปศุสัตว์ที่ถูกเชือดเพื่อเป็นการนำตนให้เข้าใกล้ชิดอัลลอฮ์(ซ.บ)ในวันอีด นับตั้งแต่วันอีฏีลอัฏฮา (10 ซุลฮิจญะฮ.) จนกระทั่งถึงท้ายของวันตัซรีกทั้ง 3 วัน (สิ้นสุดการเชือดเมื่อเข้าเวลามักริบของวันที่ 13 ซุลฮิจญะฮ.)

บทบัญญัตอุดฮียะห์ (การเชือดกุรบาน ) จากอัล-กุรอ่าน ,อัล-ฮาดิษ คือ คำดำรัสของอัลลอฮ(ซ.บ)ในซูเราะห์ อัล-เกาซัร อายะห์ที่ 2

فصل لربك وانحر

"ดังนั้น สูเจ้าจงละหมาดต่อพระผู้อภิบาลของสูเจ้า และสูเจ้าจงเชือด"

ฮาดิษของท่านติรมีซี จากท่านหญิงอาอีซะห์ รอดียัลลอฮูอันฮา แท้จริงท่านนบีได้กล่าวว่า

ما عمل ابن آدم يوم النحر من عمل أحب الى الله تعالى من اراقة الدم

انها لتأتي يوم القيامة بقرونها وأظلافها وان الدم ليقع من الله بمكان قبل

أن يقع على الأرض فطيبوا بها نفسا

"ไม่มีการกระทำใดของมนุษย์ที่จะเป็นที่รักยิ่งยังอัลลอฮ. มากไปกว่าการทำให้เลือดหลั่งนอง (เนื่องจากการเชือดสัตว์เพื่อเป็นพลีทาน) แท้จริงแล้วมันจะมาในวันกียามัตด้วยกับเขาของมันและกีบเท้าของมัน และแท้จริงแล้วเลือดจะตกอยู่ ในสถานที่หนึ่ง ณ อัลลอฮ. ก่อนที่จะตกถึงพื้น ดังนั้นพวกท่านจงตั้งใจให้ดีกับการเชือดนั้น" และฮาดีษที่บุคอรี(5245)และมุสลิม(1966)

ان الني صلي الله عليه وسلم ضحي بكبشين املحين

اقرنين ذ بحهمابيده

وسمّي وكبّر ووضع رجله علي صفاحهما

"ท่านนบี(ศอลฯ) ได้เชือดสัตว์อุดฮียะห์(สัตว์กรุบาน) เป็นแกะสองตัวสีเทามีเขา ท่านได้เชือดมันทั้งสองด้วยมือของท่านเอง ท่านได้กล่าวบิสมิ้ลลาห์ฯ และกล่าวตักบีร และได้วางเท้าของท่านลงบนข้างต้นคอ

การเรียกร้องให้มีการเชือดอุดฮียะห์(สัตวกุรบาน)เกิดขึ้นครั้งแรกในปีที่ 2 หลังจากการฮิจเราะห์ เช่นเดียวกับการละหมาดอีดทั้งสอง ซะกาตทรัพย์สิน และซะกาตฟิตเราะห์

เงื่อนไขของสัตว์อุดฮียะห์(สัตว์กุรบาน) จะต้องเป็น 1 จาก 3 ชนิด คือ อูฐ วัว แพะหรือแกะ เพราะมีโองการจาก อัลลอฮ.ทรงตรัสไว้:(ในซูเราะห์อัลฮัจย์ อายะห์ที่ 34)

(34 الآية:سورة الحج ) (وَلِكُلَّ أُمَّةٍ جَعَلْنَا مَنْسَكًا لِيَذْكُرُوْا اسمَ الله عَلىَ مَا رَزَقَهُمْ مِنْ بَهِيْمَةِ اْلأنْعَامِ )

" และสำหรับทุกๆประชาชาตินั้น เราได้กำหนดศาสนพิธีไว้แล้ว เพื่อพวกเขากล่าวนามของอัลลอฮ. เหนือสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา จากปศุสัตว์" และคำว่า ปศุสัตวนั้นก็ไม่พ้นไปจากสัตว์ทั้งสามจำพวกที่กล่าวมาแล้วนั้น และเพราะไม่เคยมีผู้ใดรายงานจากท่านรอซูลุ้ลเลาะห์(ศอลฯ)และซอฮาบะห์ของท่านว่าท่านได้ทำอุดฮียะห์ด้วยกับสัตว์อื่น

และสัตว์ที่ดีที่สุดในการทำอุดฮียะห์ก็ คือ อูฐ รองลงมาได้แก่ วัว และรองลงมาก็ได้แก่ แพะ แกะ

ส่วนทัศนะของ อิบนุ อับบาส ถือว่าเพียงพอกับการทำให้เลือดหลั่งนอง (เชือด) ถึงแม้ว่าจะเป็นไก่ก็ตาม

ฮิกมะห์ในการบัญญัติเรื่องอุดฮียะห์(การเชือดกรุบาน)

สิ่งที่ควรทราบก็คือ อุดฮียะห์นั้นเป็นอิบาดะห์ และนอกจากการเชือดอุดฮียะห์จะเป็นการยอมจำนนต่อคำบัญชาของอัลเลาะห์ตาอาลาในความหมายของความเป็น :บ่าว :แล้วในอุดฮียะห์นี้ก็ยังมีฮิกมะห์และประโยชน์อื่นๆอีก

ความหมายที่ชัดเจนและยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวข้องกับอุดฮียะห์ก็คือ เป็นการฟื้นฟูความหมายของการเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่ท่านนบีอิบรอฮีม(อ.ล)ได้กระทำไว้ขณะที่อัลเลาะห์ตาอาลาทรงทดลองนบีอิบรอฮีม โดยมีบัญชาให้เชือดบุตรชายของตน และต่อมาอัเลาะห์ก็ได้ไถ่ตัวบุตรชายของเขาด้วยแกะที่พระองค์ได้ประทานลงมา และมีคำสั่งให้เชือดแกะตัวนั้นแทนบุตรชาย หลังจากนนั้นนบีอิบรอฮีมและบุตรชายได้พยายามปฎิบัตฺตามคำบัญชาของพระองค์ให้เป็นความจริงอย่างถึงที่สุด และที่เกินไปกว่านั้นก็คือ เป็นความเอื้อเฟื้อแก่คนยากไร้และคนที่ขัดสนและทำให้คนในครอบครัวมีความดีใจและปิติยินดีในวันอีด และเป็นการเสริมสร้างความผูกพันระหว่างสมาชิกในสังคมมุสลิมให้เกิดความมั่นคงอย่างแน่นเหนียว

เวลาของการเชือด

เวลาเชือดอุดฮียะห์ คือ เริ่มตั้งแต่ตะวันขึ้นในวันอีดอัดฮา และผ่านไปช่วงหนึ่งที่พอจะละหมาดสองรอกาอัตและสองคุตบะห์ได้ เวลาการเชือดอุดฮียะห์นี้จะยังคงอยู่เรื่อยไปจนถึงตะวันตกในวันสุดท้ายของวันตัชรีก ส่วนคำว่าวันตัซรีกนั้น หมายถึง 3 วัน 3 คืน คือวันที่สิบเอ็ด สิบสอง สิบสาม หลังจากวันอีด ถ้าหากเชือดในกลางคืนของวันทั้ง 3 ถือว่ามักรูห์ (มักรูห์ คือ สิ่งที่น่าเกลียด ไม่สมควรกระทำ ผู้ที่กระทำจะไม่ได้รับโทษ แต่ผู้ที่ละทิ้งจะได้รับผลบุญ) และคำว่า เพื่อเป็นการทำตนให้เข้าใกล้ชิดอัลลอฮ. หมายถึงตามแนวทางที่จะเข้าใกล้ชิด อัลลอฮ.โดยที่ไม่เกี่ยวว่าเชือดเพื่อรับประทานหรือเชือดเพื่อขาย

เวลาของการเชือดอุดฮียะห์ที่ดีเลิศ

คือให้ล่าช้าการเชือดจนกระทั่งดวงอาทิตย์ของวันอีดสูงได้ระยะ 1 ด้ามหอก(โดยการประมาณด้วยสายตา) คือ ภายหลังจากเสร็จละหมาด อีด

เพราะฮะดีษบุคอรี(5225)และมุสลิม(1961)ว่า:

اَوَلُ مَا نَبْدَأُ بِهِ يَومَنَا هَذَانُصَلِي ثُمَ نَرْجِعُ فَنَنْحَرُ فَمَنْ

فَعَلَ ذَالِكَ فَقَدْ اَصَابَ سُنَتَنَا وَمَنْ ذَبَحَ قَبْلَ ذَالِكَ فَاِنَمَا هُوَلَحْمٌ قَدَّمَه‘

لاَهْلِهِ لَيْسَ مِنَ النُسُكِ فِيْ شَيْءٍ

สิ่งแรกที่เราได้เริ่มต้นในวันนี้ของเราคือ เราละหมาด จากนั้นเรากลับมาและเชือด ดังนั้นผู้ใดปฎิบัติดังกล่าว เขาก็ทำถูกต้องตามซุนนะห์ของเรา และผู้ใดเชือดก่อนดังกล่าวนั้น มันก็เป็นเนื้อที่เขาหยิบยื่นให้แก่ครอบครัวของเขา ไม่ใช่เป้นพีธีการศาสนาแต่อย่างใด คำที่ว่า และผู้ใดเชือดก่อนดังกล่าวนั้น " หมายความว่า ก่อนเข้าละหมาดอีด และก่อนที่เวลาจะผ่านพ้นไปเท่ากับช่วงที่จะสามารละหมาดได้พอในช่วงนั้น และอินุฮิบบาน(1008)ได้รายงานจากญุบัยร์บุตรมุตอิม(ร,ด)ได้กล่าวว่า: ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ ได้กล่าวว่า

(وَكُلُّ اَيّامِ الْتَشْرَيْقِ ذَبَحٌ)

: ทุกวันตัชรีกนั้นคือการเชือด หมายความว่าเป็นเวลาเชือด:

เงื่อนไขของการเชือดที่จะเป็นกุรบ่านได้มี 3 ประการ

1. สัตว์ที่ถูกเชือดต้องมาจากปศุสัตว์

2. การเชือดต้องอยู่ในวันอีดและบรรดาวันตัซรีกทั้ง 3 วันเท่านั้น

3. การเชือดนั้นเพื่อต้องการนำตนให้เข้าใกล้ชิดอัลลอฮ.

การเชือดกุรบานนั้นถือว่าเป็นสุนัตมูอักกัต(مؤكد) (สุนัตมูอักกัตคือ สิ่งที่ ควร

กระทำซึ่งเกือบถึงขั้นที่จำเป็นต้องกระทำหรือควรจะกระทำเป็นอย่างยิ่ง) สาเหตุที่ไม่มีการเจาะจงกับบุคคนหนึ่งบุคคนใดเพราะนั้นเป็นเรื่องของฟัรดูกีฟายะห์

( فرض كفاية)

ฟัรดูกีฟายะห์( فرض كفاية) คือ สิ่งที่ใช้บังคับให้ปฎิบัติโดยส่วนรวม ไม่ใช่เป็นรายบุคคล หมายความว่าเมื่อมีบางคนได้ปฎิบัติก็ถือเป็นการพอเพียงแล้วเพราะบาปจากคนอื่นก็พลอยหลุดพ้นไปทั้งหมดทุกคน และถ้าหากไม่มีผู้ใดปฎิบัตเลยก็พลอยบาปกันหมดทุกคน ดังนั้นหากมีคนหนึ่งได้ทำการเชือดกุรบาน ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับบุคคลที่เหลือทั้งหมด และการทำกุรบาน ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำ (วายิบ) นอกจากกุรบานที่เกิดขึ้นด้วยการนาซัร(บนบาน)

การทำกุรบาน เป็นสุนัตมูอักกัตในสิทธิของประชาชาติ ส่วนสิทธิของท่านรอซูล ถือว่าเป็นวายิบ

ผู้ที่ถูกกำหนดให้ทำอุดฮียะห์

อุดฮียะห์เป็นสุนัตแก่ผู้ที่มีเงื่อนไขครบถ้วนดังต่อไปนี้:

1 . อิสลาม ดังนั้นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จึงไม่ถูกกำหนดให้ทำอุดฮียะห์

2. บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมประชัญญะและเป็นเสรีชน ดังนั้นผู้ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะและผู้ที่ขาดสติจึงไม่ถูกกำหนดให้ทำอุดฮียะห์

3.มีความสามารถ และที่จะเรียกว่าเป็นผู้มีความสามารถก็คือ มีทรัพย์สินที่จะซื้อสัตว์อุดฮียะห์เกินกว่าค่าใช้จ่ายของตนและค่าใช้จ่ายของผู้ที่ตนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่พักอาศัยในช่วงวันอีดและวันตัชรีก

ท่านอีหม่าม ซาฟีอี...... ได้กล่าวไว้ว่า "ไม่มีการผ่อนผันให้ละทิ้งการทำกุรบาน สำหรับบุคคลที่มีความสามารถในการเชือดสัตว์กุรบาน" และเป้าหมายจากคำของอีหม่าม ซาฟีอี ถือว่าไม่สมควรละทิ้ง (มักรูฮ) สำหรับบุคคลที่มีความสามารถที่จะทำการเชือดกุรบาน ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวชนบทหรือชาวเมือง หรือเป็นคนเดินทาง และไม่มีข้อจำกัดระหว่างผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์

และถือเป็นสุนัตสำหรับผู้ทำกุรบาน ให้เขาปล่อยผมและเล็บไว้ในช่วง 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจยะห์(คือนับตั้งแต่ 1 – 10 ของเดือนซุลฮิจญะฮ) จนกว่าเขาจะได้ทำการเชือด และถึงแม้ว่าการเชือดนั้นจะล่าช้าไปจนถึงวันสุดท้ายของวันตัซรีกก็ตามเพราะมีฮะดีษที่มุสลิม(1977)ได้รายงาน จากท่านนบี ได้กล่าวว่า

اذارايتم هلال ذي الحجة واراداحدكم ان يضحي فليمسك عن شعر ه

واظافره

"เมื่อพวกท่านเห็นฮิลาลของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ และคนใดในพวกท่านประสงค์จะทำอุดฮียะห์ให้เขาปล่อยผมและเล็บไว้"

และสุนัตให้ผู้ชายเชือดกุรบานด้วยตัวเขาเอง หากว่าเขาสามารถที่จะทำการเชือดเป็นอย่างดี เพราะท่านรอซูล (ศ้อลฯ)ทรงทำการเชือดด้วยตัวของท่านเอง

และสุนัตสำหรับผู้หญิงและคุนซา(คนที่มีสองเพศในคนเดียวกัน และไม่แจ้งว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง) และคนที่ทำได้ไม่ดีพอกับการเชือดสัตว์ ให้มอบหมายให้คนอื่นเชือดแทน และสุนัตสำหรับบุคคลที่มอบหมายให้คนอื่นเชือดสัตว์กุรบานแทนตน ไปยืนดูการเชือดด้วย เพราะฮาดิษที่ฮากิม(4/222)ได้รายงานด้วยสายรายงานที่ซอเฮียะห์ว่า ท่านนบี(ซ,ล)ได้กล่าวกับท่านหญิงฟาตีมะห์ รอดียัลลอฮูอันฮา(บุตรสาวของท่าน)ว่า:

قومي الى أضحيتك فاشهديها فانه بأول قطرة من دمها

يغفر لك ما سلف من ذنوبك)

قالت يارسول الله هذالنا اهل البيت خاصة

ولناوللمسين عامة

(قال بل لنا وللمسلمين عامة

"เธอจงลุกขึ้นไปยืน ณ สัตว์กุรบานของเธอและจงมองดูมัน เพราะเธอจะได้รับการอภัยโทษจากปาบต่างของเธอที่ลุล่วงมาแล้วที่ผ่านพ้นมาแล้วด้วยกับหยดแรกจากเลือดของมัน" ฟาตีมะห์ได้กล่าวถามว่า โอ้ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์(ซ,ล) ที่กล่าวมานี้เฉพาะพวกเราที่เป็นคนในครอบครัวของท่าน (อะห์ลุ้ลบัยต์) เท่านั้นหรือสำหรับพวกเราและมวลมุสลิมโดยทั่วไป? ท่านตอบว่า:แต่มันสำหรัรบพวกเราและมวลมุสลิมโดยทั่วไป"

เงื่อนไขของสัตว์อุดฮียะห์(สัตว์ที่นำมาเชือดกรุบาน)

1. แกะอายุ 1 ขวบย่างเข้าปีที่ 2

2 . แพะชนิดที่มีขนสั้นและหางสั้น อายุ 2 ขวบ ย่าง 3 ขวบ

3. อูฐ ที่มีอายุ 5 ขวบ ย่างเข้าปีที่ 6

4. วัวและแพะ อายุ 2 ขวบ ย่างเข้าปีที่ 3

อนุญาติให้ใช้อูฐหรือวัวหนึ่งตัวนั้น สามารถหุ้นส่วนกันได้ 7 คน หรือ 7 ส่วน ท่านอีหม่ามมุสลิม(1318) ได้รายงานว่า:

عَنْ جَابِرٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ نحرنا مع الرسول الله

صلي الله عليه وسلم عام الحديبية البدنة عن سبعة

والبقرة عن سبعة

จากท่านญาบิร(ร,ด) ได้กล่าว ว่า:เราได้เชือดพร้อมกับท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ในปีฮุดัยบียะห์ อูฐ หนึ่งตัวแก่เจ็ดคน และวัวหนึ่งตัวแก่เจ็ดคน

และจำเป็นกับคนทุกๆคน จากคนทั้ง 7 ที่ร่วมกันทำกุรบาน ในสัตว์ตัวเดียวกัน ต้องทำศอดาเกาะฮ (บริจาค) กับส่วนที่เป็นส่วนของตนเองออกไป หากว่าได้ร่วมกันทำกุรบาน ในอูฐหรือวัว 1 ตัวเกินกว่า 7 คน จะถือว่าไม่มีส่วนของบุคคลใดใช้ได้เลยในการทำกุรบานนั้น ส่วนถ้าหากว่าคนๆหนึ่งได้เชือดอูฐหรือวัว แทนจากแพะ เพื่อทำกุรบาน โดยที่ไม่มีใครหุ้นส่วนกับเขาในการเชือดนั้น ดังนั้นส่วนที่เกินจากส่วนของเขา ถือว่าเป็นสิ่งที่เขาสมัครใจทำพร้อมกับกุรบานของเขา ในฐานะทีเขากระทำซุนนัต

สำหรับแกะหรือแพะ นั้นจะใช้ทำกุรบานแทนได้เพียงบุคคลเดียวเท่านั้น(ทำกุรบานได้เพียง 1 ส่วน) และถือว่าการทำกุรบานด้วยแกะนั้น ประเสริฐกว่าการที่เขาไปร่วมทำกุรบานด้วยอูฐพร้อมกับคนอื่น เนื่องจากว่าเขาได้ทำให้ไหลนองกับเลือดเพียงลำพังในการทำกุรบาน

ลำดับความประเสริฐของสัตว์ที่นำมาทำกุรบาน คือ อูฐ วัว แพะหรือแกะ ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากความมากของเนี้อ และในด้านความมากของเลือดที่ไหลนอง ดังนั้นการเชือดกุรบานด้วยแกะ 7 ตัว จึงประเสริฐ กว่าการทำกุรบานด้วยอูฐ 1 ตัว หรือ วัว 1 ตัว และลำดับความประเสริฐในสีของสัตว์ที่นำมาทำกุรบาน คือ สีขาว สีเหลือง สีเทา สีแดง และสีดำ ตามลำดับ สัตว์ที่นำมาทำกุรบานนั้นจะต้องปราศจากจากข้อตำหนิต่างๆ

สัตว์ที่ไม่สามารถนำมาทำกุรบานได้นั้นมี 4 ประเภท

1. สัตว์ที่ตาข้างใดข้างหนึ่งบอดอย่างชัดเจน (العوراء البين عورها)

ถึงแม้สัตว์นั้นจะมีม่านตาอยู่ก็ตาม ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุด(อาเซาะฮ) ท่านอีหม่ามซาฟีอี ได้กล่าวไว้ว่า รากศัพท์คำเดิมของคำว่า อัล- อีวะรู่ หมายถึง ความขาวที่มาปิดที่ดวงตา เมื่อความขาวนั้นมากจนไม่สามารถมองเห็นแสงได้ ถือว่าไม่สามารถทำกุรบานกับสัตว์นั้นได้ แต่หากความขาวนั้นมีเพียงเล็กน้อย โดยที่ไม่ห้ามการเห็นแสง ถือว่าสามารถทำการกุรบานกับสัตว์นั้นได้

2. สัตว์ที่ขาเป๋ หรือขากระเผลกอย่างชัดเจน (العرجاء البين عرجها)

ถึงแม้ว่าการกระเพลกนั้นจะเกิดขึ้นจากการล้มนอนตะแคงของสัตว์เพื่อทำการเชือดก็ตาม ถือว่าสัตว์นั้นทำกุรบานไม่ได้ ส่วนขากระเพลกเพียงเล็กน้อยโดยที่ขากระเพลกนั้น ไม่ทำให้เกิดการล่าช้าในการเดิน ก็ถือว่าสามารถนำมาทำกุรบานได้

3. สัตว์ที่ป่วย (المريضة البين مرضها)

เนื่องจากความซูบผอม และการเสียหายในเนื้อของสัตว์นั้น หากป่วยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถนำมาทำกุรบ่านได้

4. สัตว์ที่ผอมที่ไม่มีไขมัน (العجفاء)

ซึ่งความอ้วนท้วนสมบูรณ์ในเนื้อของมันหายไปอันเนื่องจากความซูบผอมของมัน

เพราะฮะดีษรายงานโดยท่านติรมีซี (1497)และว่าเป็นฮะดีษซอเฮียะห์และอบูดาวูด(2802)

عن البر بن عازب رضي الله عن عن النبي صلي الله

عليه وسلم قال

اَرْبَعٌ لاتُجْزَيءُفي الاضاحي العَوْرَاءُ البَيِّن ُعَوْرُهَا

وَالْمَرِيْضَةُ البَيِّنُ مَرَضُهَاء

والعَرْجَاءُالبين عَرَجُها والعَجْفَاءُ التي لاتُنقي

จากท่านบะรออฺ บุตร อาซิบ(ร,ด) จากท่านนบี (ซ,ล) ได้กล่าวว่า สัตว์สี่ประเภทใช้ทำอุดฮียะห์ไม่ได้คือ สัตว์ตาบอดที่อาการบอดของมันแจ้งชัด สัตว์ที่เป็นโรคที่อาการป่วยของมันปรากฎชัด สัตว์ขากะเผลกที่ปรากฎอาการกะเผลกอย่างแน่ชัด และสัตว์ผอมที่ไม่มีไขมัน

* ส่วนสัตว์ที่ถูกตอน*
สัตว์ที่ถูกตัดลูกอัณฑะทั้งสองหรืออวัยเพศออกไปสามารถทำกุรบานได้

เพราะไม่ได้ตั้งใจเอาสิ่งที่ตัดนั้นมารับประทาน ดังนั้นการตัดส่วนนั้นออกจากสัตว์ จึงไม่เป็นข้อห้ามในการนำสัตว์นั้นมาทำกุรบาน เช่นเดียวกับการตัดสิ่งหนึ่งออกไปแล้ว จะนำมาสู่การเพิ่มของเนื้อ หรือทำให้เนื้อมีสภาพดีขึ้น ก็ไม่เป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

* สัตว์ที่เขาหักหรือแตก *

หากว่าการแตกหรือหักนั้นไม่มีผลกระทบต่อปริมาณเนื้อก็ถือว่าสัตว์ตัวนั้นสามารถนำมาทำกุรบานได้ หากการแตกหรือหักของเขาสัตว์มีผลกระทบต่อเนื้อก็ถือว่าสัตว์นั้นไม่สามารถทำกุรบานได้ เพราะตำหนิของสัตว์กุรบาน ณ ที่นี้ก็คือ ทุกๆสิ่งที่ทำให้เนื้อหรือสิ่งที่จะนำมารับประทานเกิดความบกพร่องหรือลดน้อยลง

* สัตว์ที่ไม่มีเขา ตามโครงสร้างของมันโดยกำเนิด *

สามารถนำมาทำกุรบ่านได้ เพราะทุกๆอวัยวะที่ไม่มีเนื้อ จะไม่มีผลกระทบต่อสัตว์กุรบาน หากขาดอวัยวะนั้นไป

* สัตว์ที่ถูกตัดหูทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนของหู *

ไม่สามารถนำมาทำกุรบานได้(ถึงแม้ว่าจะหายไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม) เพราะถือว่าส่วนที่หายไป เป็นส่วนที่ทำเป็นอาหารได้ ท่านอีหม่าม อาบูฮานีฟะห์ ได้ให้ทัศนะว่า หากส่วนที่ถูกตัดออกไปนั้น ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วนสาม ถือว่าสามารถนำมาทำกุรบานได้

* สัตว์ที่ไม่มีใบหูมาแต่กำเนิด *

ไม่สามารถนำมาทำกุรบานได้ แต่สัตว์ที่ใบหูฉีกขาด แต่หูนั้นยังคงติดอยู่ สามารถนำมาทำกุรบานได้

* สิ่งที่ควรปฎิบัติขณะทำการเชือดมี 5 ประการ *

1.การกล่าวบิสมิลลาฮ โดยที่ผู้กระทำการเชือดกล่าวว่า บิสมิลลาฮ หรือกล่าวอย่างสมบูรณ์ บิสมิลลาฮิรเราะมานิรรอฮีม ดังนั้นหากผู้ใดไม่ได้กล่าว บัสมาลาฮ ที่เป็นซุนนัต สิ่งที่ถูกเชือดถือว่าฮาลาล (สามารถรับประทานได้) ดังกล่าวนี้ยึดถือตามทัศนะที่กล่าวว่า บัสมาลาฮ เป็นซุนนัต และมักรูฮ(น่ารังเกียจ)ที่จะละทิ้งการกล่าว บิสมิลลาฮ และสำหรับทัศนะอื่น ถือว่าการกล่าวบิสมิลลาฮเป็นวายิบ(จำเป็น) เพราะคำดำรัสของอัลลอฮ (ซบ)ที่ว่า "พวกท่านทั้งหลายอย่าได้รับประทานสิ่งที่ไม่ได้ถูกกล่าวนามของอัลลอฮ เหนือสิ่งนั้น" ท่านอีหม่ามซาฟีอี รอฮีมาฮูลลอฮ ได้ตอบแย้งทัศนะนี้ไว้ว่าความจริงแล้ว คือ เขาได้กล่าวนามชื่ออื่นนอกจากอัลลอฮ เหนือสัตว์ที่ถูกเชือดนั้น(จึงถือว่าสัตว์นั้นห้ามรับประทาน)และสาเหตุของการประทานโองการนี้ อีกประการหนึ่ง คือ พวกเขาเชือดสัตว์ของพวกเขา ด้วยนามชื่อพระเจ้าของพวกเขา หลังจากนั้น พวกเขาก็รับประทานสัตว์นั้น อัลกุรอ่านโองการนี้จึงถูกประทานลงมา เพื่อเป็นการห้ามพวกเขาจากการรับประทานสิ่งที่พวกเขาได้กล่าวนามชื่อบรรดาพระเจ้าของพวกเขา ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ไม่ได้กล่าวนามชื่อใดๆเลย ถือว่าอนุญาตให้รับประทานได้ เพราะการกล่าว บิสมิลลาฮนั้นเป็นสุนัต พร้อมกับมักรูฮ ที่จะละทิ้งการกล่าว บิสมิลลาฮโดยเจตนา

2.การสรรเสริญต่อท่านนบีมูฮัมหมัด ศอลอลอฮูอาลัยฮีวาศัลลัม และซุนนัตให้

รวมคำว่า อัสสลามุ (السلام)เข้าไปกับคำว่า อัศศอลาตุ(الصلاة) ด้วย และถือว่ามักรูฮ(น่ารังเกียจ)การทิ้งการกล่าว อัสสลามุ โดยเจตนา เช่นเดียวกับการทิ้งการกล่าว บิสมิลลาฮโดยเจตนา และมักรูฮ(น่ารังเกียจ)ในการรวมนามชื่ออัลลอฮ และนามชื่อท่านรอซูลไว้ด้วยกันโดยที่เขากล่าวว่า บิสมิลลาฮ วัสมิมูฮัมหมัด พร้อมทั้งฮาล้าล(สามารถรับประทานได้)สิ่งที่ถูกเชือด ถ้าหากเขาตั้งใจให้เกิดศิริมงคล และถือว่าฮาราม หากเขาพูดลอยๆโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย พร้อมทั้งฮาล้าลสิ่งที่ถูกเชือด แต่ถ้าหากเขาตั้งใจที่จะหุ้นส่วนกันระหว่างนามชื่อทั้งสอง ถือว่าเขาเป็นผู้ทรยศ(กาฟิร) และสัตว์ที่ถูกเชือดนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามด้วย

3.ผู้ที่ทำอุดฮียะห์และอุดฮียะห์ผินหน้าไปทางกิบละฮขณะทำการเชือด

4.การกล่าวตักบีร(อัลลอฮฮูอักบัร)ก่อนหรือหลังตัสนียะห์(บิสมิลลาฮ) 3 ครั้ง หากเขากล่าวเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้ และได้สุนัตในการ ตักบีรด้วย และที่สมบูรณ์แล้วให้เขากล่าว ตักบีร 3 ครั้ง โดยผู้ทำการเชือดกล่าวว่า (อัลลอฮฮูอักบัร-อัลลอฮฮูอักบัร-อัลลอฮฮูอักบัร) และให้เขาเพิ่มหลังจากครั้งที่สามว่า (วาลิลลาฮฮิลฮัมด์) ไม่ว่าเขาจะกล่าวตักบีรก่อนหรือหลังก็ตาม หากเขาจำกัดการกล่าวตักบีรเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้ เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติกัน โดยที่พวกเขากล่าว (บิสมิลลาฮฮีอัลลอฮฮูอักบัร)

5.การดุอาต่ออัลลอฮ ให้พระองค์รับการทำกุรบานของเขา โดยที่เขากล่าวว่า

اللهم هذا منك واليك فتقبل مني

"โอ้อัลลอฮ.กุรบานนี้เป็นความโปรดปรานที่ได้รับจากพระองค์ท่าน และข้าพระองค์จะได้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านด้วยกับกุรบานนี้ ขอพระองค์ทรงรับกุรบานจากข้าพระองค์ด้วยเถิด"

และยังมีสุนัตอื่นๆอีก เช่น การลับมีดให้คม การจับสัตว์นอนตะแคงทางซีกซ้าย และผูกขา 3 ขา โดยปล่อยขาขวาไว้ เป็นต้น

ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ทำกุรบาน ทานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสัตว์กุรบานที่ถูกบนบานไว้(นาซัร) แต่ว่าจำเป็นที่เขาจะต้อง(ซอดาเกาะฮ)บริจาคเป็นทาน กับเนื้อของสัตว์กุรบานที่บนบานไว้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าหากเขาประวิงเนื้อกุรบานไว้ไม่ยอมทำทานออกไป(สำหรับกุรบานนาซัร)จนกระทั่งเนื้อนั้นเสีย จำเป็นที่เขาจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ถูกนาซัรเอาไว้

และสุนัตให้ผู้ที่ทำการเชือดกุรบานรับประทานส่วนหนึ่งจากสัตว์กุรบานของเขาที่สมัครใจทำ(ไม่ใช่กุรบานจากการนาซัร) เศษหนึ่งส่วนสาม ตามโกลญาดีด(ทัศนะของอีหม่ามซาฟีอีขณะอยู่ที่อียิปต์) และสำหรับอีกสองส่วนสาม บางทัศนะกล่าวว่าให้ทำทานกับสองส่วนนั้นไป บางทัศนะกล่าวว่าให้ทำทานแก่มุสลิมที่รวย 1 ส่วน และมุสลิมที่จนอีก 1 ส่วน

ยินยอมให้ผู้ทำอุดฮียะห์บริจาคหนังสัตว์อุดฮียะห์ของตนได้ หรือเอาไว้ใช้ประโยชน์เองก็ได้ แต่ไม่ยินยอมให้ผู้ทำอุดฮียะห์ ขายสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสัตว์กุรบานไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนัง หรือขนของมัน หรือให้แก่ผู้เชือดเป็นค่าจ้างในการเชือดของเขา ถึงแม้ว่ากุรบานนั้นจะเป็นความสมัครใจทำก็ตาม(ที่ไม่ใช่วายิบ) เพราะดังกล่าวนั้นอยู่ในความหมายของการขาย ดังนั้นหากเขาจะให้แทนเป็นค่าจ้างต่อผู้เชือด จะต้องไม่ใช่เป็นค่าจ้างแต่ให้ถือว่าเป็นการทำซอดาเกาะฮ(การให้ทาน) ส่วนการห้ามขายดังกล่าวนั้นพร้อมกับการขายนั้นใช้ได้ เช่นเดียวกับการขายในขณะที่มีการเรียกร้องให้ไปละหมาดวันศุกร์ แต่สินค้าที่เกิดขึ้นในกรณีของการขายเนื้อกุรบานนั้น หากผู้ซื้อเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับกุรบานได้ โดยที่เขาเป็นคนยากจน ดังนั้นถือว่าสินค้าดังกล่าวเป็นซอดาเกาะฮ(ทาน) สำหรับเขา และเขาสามารถทวงราคาคืนจากผู้ขายได้ การห้ามขายนั้นไม่ว่ากุรบานนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกบนบานเอาไว้หรือเป็นสิ่งสมัครใจทำก็ตาม เนื่องจากมีตัวบทอัล-ฮาดิษ ที่บัยฮะกีได้รายงาน(9/294)จากท่านนบี(ศอลฯ)ได้กล่าวว่า:

( مَنْ بَاعَ جِلْدَ أُضْحِيَتَه’ فَلا أُضْحِيَةَ لَه’ )

"ผู้ใดขายหนังอุดฮียะห์ของตน(สัตว์กุรบาน) ถือว่าไม่มีการทำกุรบานสำหรับเขา"

จะปฎิบัติอย่างไรกับอุดฮียะห์ ภายหลังจากเชือดแล้ว

ถ้าหากอุดฮียะห์นั้นเป็นวายิบ : โดยการบนบาน (นะซัร)ไว้ หรือโดยการระบุแน่นอนว่าสัตว์ตัวนี้จะทำอุดฮียะห์ ดังนั้นไม่อนุญาติให้ผู้ทำอุดฮียะห์ และคนในครอบครัวของเขาที่เขาจำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ ทำการรับประทานอุดฮียะห์นั้น ถ้าหากผู้ใดรับประทานส่วนหนึ่งของอุดฮียะห์ไป ก็จะต้องถูกปรับเท่ากับที่รับประทานไปหรือถูกปรับเป็นราคา และถ้าหากเป็นอุดฮียะห์ที่เป็นสุนัต ก็อนุญาติให้รับประทานได้ตามแต่เขาต้องการ โดยจะต้องบริจาคไปส่วนหนึ่ง แต่ที่ดีแล้วให้เขารับประทานแค่เพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นสิริมงคล(บะรอกะห์) ดังนั้นให้เขาตั้งใจเอาศิริมงคลด้วยการรับประทานเนื้อนั้น เพื่อเป็นการปฏิบัติการตามแนวทางของท่านรอซุล(ศอลฯ)และเพื่อออกจากการขัดแย้งกับบุคคลที่มีทัศนะว่า เป็นสิ่งจำเป็น(วายิบ) และให้บริจาคส่วนที่เหลือทั้งหมด และยินยอมให้เขารับประทานได้หนึ่งในสามของอุดฮียะห์ และบริจาคหนึ่งในสามให้แก่คนยากจน และอีกหนึ่งในสามมอบเป็นของขวัญ(ฮะดียะห์) แก่เพื่อนๆ และเพื่อนบ้านแม้จะเป็นคนรวยก็ตาม แต่สิ่งที่มอบให้คนรวยเป็นของขวัญนั้นมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การรับประทานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ยินยอมให้พวกเขานำไปขายแลกเปลี่ยน ส่วนสิ่งที่ให้แก่คนยากจนนั้นเป็นการให้ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งคนจนอาจใช้รับประทานหรือนำไปจับจ่ายตามความต้องการ

และได้ถูกวางเงื่อนไขเอาไว้ ในส่วนของเนื้อกุรบานนั้นต้องเป็นเนื้อดิบๆ เพื่อผู้ที่รับเนื้อไปนั้นจะได้ใช้เนื้อตามที่เขาต้องการ ทั้งในด้านของการขายและอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้นำเนื้อกุรบานทั้งหมดมาประกอบเป็นอาหาร หลังจากนั้นก็เชิญชวนให้คนยากจนมารับประทาน

และสุนัตให้ผู้ทำกุรบานรับประทานส่วนที่เป็นตับของสัตว์กุรบาน เพราะความจริงแล้วท่านรอซูล(ศอลฯ)จะรับประทานจากตับของสัตว์กุรบานของท่าน และเมื่อเขาได้รับประทานเนื้อกุรบานไปบางส่วน และทำทานไปกับส่วนที่เหลือ จะถือว่าเขาได้รับผลบุญของการทำกุรบานทั้งหมด เพราะเขาเชือดส่วนทั้งหมดเพื่อเป็นกุรบาน และได้รับผลบุญของการทำศอดาเกาะฮบางส่วน เพราะเขาทำทานไปเพียงบางส่วนเท่านั้นไม่ได้ทำทั้งหมด ดังนั้นเขาจึงได้รับผลบุญของการกระทำซอดาเกาะฮเพียงบางส่วน

ผู้ทำการแปล.... นายอิบรอฮีม อิสมัน

المراجع

الخطيب البجيرمي على


0 ความคิดเห็น: