การสร้างครอบครัวที่ดี



โดย อ. ฏอฮา อับดุลเลาะห์

จง มีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ ตะอาลา ด้วยการกระทำตามสิ่งที่อัลลอฮฺทรงให้ให้ท่านท่านทั้งหลายกระทำ และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามมิให้กระทำ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงใช้ให้ท่านทั้งหลายขอบคุณพระองค์ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พวก ท่าน แน่นอนพระองค์ได้ทรงสัญญาที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่จะตามมาแก่ผู้มีความกลัว เกรงพระองค์ และจะทรงเพิ่มความดีให้เป็นทวีคูณแก่ผู้ที่ขอบคุณต่อพระองค์

สังคมนั้นจะต้องประกอบไปด้วยครอบครัวหลายๆครอบครัวมารวมกัน และครอบครัวนั้นประกอบไปด้วยคนหลายคน เช่นเดียวกับอาคารจะต้องประกอบไปด้วยรากฐานซึ่งเป็นส่วนสำคัญ และก้อนอิฐอีกเป็นจำนวนมากมาย ด้วยขนาดความแข็งแรงของรากฐาน ด้วยคุณภาพและมาตรฐานของอิฐ และการก่ออิฐโดยเรียงอย่างเป็นระเบียบถูกต้องตามหลักวิชาการ อาคารนั้นก็จะเป็นอาคารที่สูงตระหง่าน สง่างาม และเป็นปราการที่มั่นคง สังคมมนุษย์ก็เช่นเดียวกันจะเป็นสังคมที่ดีได้นั้น ก็จะต้องประกอบไปด้วยบุคคลดีๆ และครอบครัวที่ดีนั้นเอง

ท่านนบี ได้เปรียบเทียบสังคมมุสลิมไว้ว่าเหมือนกับอาคารในด้านที่มีการยึดเหนี่ยวกัน ไว้ และยังเปรียบเทียบสังคมมุสลิมว่าเสมือนเรือนร่างเดียวกัน เมื่ออวัยวะส่วนใดของร่างกายเจ็บป่วย ทุกส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้องพลอยเจ็บป่วยไปด้วย ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อการสร้างครอบครัวมุสลิม และเรียกร้องให้มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปสู่สันติสุข ฉะนั้น การสร้างครอบครัวจะต้องเริ่มต้นด้วย ผู้ชายต้องมีความสัมพันธ์ และผูกพันอยู่กับหญิงตามแนวทางของการแต่งงาน (อัซซะว๊าจญ์) นั่น คือ การคัดเลือกสามีที่ดี และครอบครัวที่ดีตามแนวทางอัลอิสลาม

ท่านร่อซูล กล่าวว่า

"إذَا جَاءَ مَنْ تَرْضَوْنَ دِيْنَهُ وَخُلُقَهُ فَأَنْكِحُوْهُ إِلاَّ تَفْعَلُوْا تَكُنْ فِتْنَةٌ فِي اْلأرْضِ وَفَسادٌ كَبِيْرٌ".(رواه الترمذي وحسنه)

ความว่า “เมื่อมีคนที่ท่านพอใจในศาสนาของเขาและมารยาทของเขามาหาพวกท่าน (มาสู่ของบุตรีของพวกท่าน) ก็จงให้เขาสมรสกับบุตรีนั้นเสียเถิด

หากพวกท่านปฏิเสธที่จะกระทำ ก็จะเกิดมีฟิตนะฮฺ (ความวุ่นวาย) เกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดินนี้ และจะมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง”

(บันทึกโดย ท่านติรมิซีย์)

แท้จริงท่านนบี ได้ใช้ให้ทำการสมรสกับบุคคลที่ยึดมั่นในศาสนา มีมารยาทและมีความประพฤติดี ในฮะดีษนี้แสดงว่า ท่านนบี ไม่สนับสนุนให้ทำการสมรสกับบุคคลที่ไม่ยึดมั่นจริงจังในศาสนา ไม่มีมารยาท และมีความประพฤติที่ไม่ดี ในทำนองเดียวกัน ชายก็ควรจะต้องเลือกหญิงที่มีศาสนา มีมารยาทดี และมีความประพฤติเรียบร้อยเช่นเดียวกัน

ดังมีรายงานฮะดีษจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อัมรฺ อิบนิล อ๊าซ

"الدُّيْنَا مَتَاعٌ وَخَيْرُ مَتَاعِ الدُّنْيَا الْمَرْأةُ الصَّالِحَةُ"

ความว่า “โลกดุนยานี้คือ ความสุขเบิกบาน ความเพลิดเพลิน และความเบิกบาน ความเพลิดเพลินที่ดียิ่งของดุนยาคือ หญิง (ภรรยา) ที่ดี”

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

มีรายงานจากอบี ซะอี๊ด อัลคุดรีย์ กล่าวว่า ท่านร่อซูล กล่าวว่า

"تُنْكَحُ الْمَرْأةُ عَلَى احْدَى خِصَالٍ ثَلاَثَةٍ تُنْكَحُ الْمَرْأةُ عَلَى مَالِهَا وَتُنْكَحُ الْمَرْأةُ عَلَى جَمَالِهَا

وَتُنْكَحُ الْمَرْأةُ عَلَى دِيْنِهَا فَخُذْ ذَاتَ الدِّيْنِ وَالْخُلُقِ تَرِبَتْ يَمِيْنُكَ" . رواه أحمد بإسناد صحيح

وابن حبان في صحيحه

ความว่า “สตรีจะถูกเลือกสมรสด้วยคุณลักษณะหนึ่งในสามประการคือ

ถูกเลือกเนื่องด้วยความร่ำรวยของนาง ถูกเลือก เนื่องด้วยความสวยงามของนาง

ถูกเลือก เนื่องด้วยศาสนาของนาง ดังนั้น จำเป็นที่ท่านจะต้องเลือกหญิงที่มีศาสนาและมีมารยาทดี”

تَرِبَتْ يَمِيْنُكَ (เป็นคำขอพรและคำชมเชยว่า ขอให้มือขวาของท่านประสบแต่ความดี)

(บันทึกโดยอิมาม อะฮฺมัดและท่านอิมาม ฮิบบาน)

และอีกรายงานหนึ่งของท่านอะฮฺบีย์ ฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล กล่าวว่า

"تُنْكَحُ الْمَرْأةُ ِلأرْبَعٍ لِمَالِهَا وَلِحَسَبِهَا وَجَمَالِهَا وَلِدِيْنِهَا فَاظْفَرْ بِذاتِ الدِّيْنِ تَرِبَتْ يَدَاكَ". رواه البخاري ومسلم

ความว่า “สตรีจะถูกเลือกสมรสด้วยสิ่ง 4 ประการคือ ด้วยทรัพย์สินของนาง ด้วยเชื้อสายวงศ์ตระกูลของนาง

ด้วยความสวยงามของนาง และด้วยศาสนาของนาง ดังนั้นจงรับเอาหญิงที่มีศาสนาเถิด มือทั้งสองของท่านจะประสบแต่ความดี”

(บันทึกโดย ท่านอิมาม บุคอรีย์)

ตามความหมายของฮะดีษนี้ มีการส่งเสริมให้เลือกภรรยาที่ดีโดยไม่ต้องไปพินิจพิเคราะห์ถึงวงศ์ตระกูล ทรัพย์สิน เงินทอง และความสวยงามที่ไร้ซึ่งศาสนาและจริยธรรม เพราะฉะนั้น จึงอย่าเลือกสมรสกับสตรีเพียงต้องการความสวยงามของนางหรือความร่ำรวยหรือ ตระกูลที่สูงศักดิ์ของนาง แต่ให้เลือกเอาหญิงที่มีศาสนา

ดังมีฮะดีษรายงานจาก อับดุลลอฮฺ อิบนิ อัมรฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูล กล่าวว่า

"لاَ تَزَوَّجُوا النِّسَاءَ لِحُسْنِهِنَّ فَعَسَى حُسْنُهُنَّ أنْ يُرْدِيَهُنَّ وَلاَ تَزَوَّجُوْهُنَّ ِلأمْوَالِهِنَّ فَعَسَى

أمْوَالُهُنَّ أنْ تُطْغِيَهُنَّ وَلَكِنْ تَزَوَّجُوْهُنَّ عَلَى الدِّيْنِ وَلأَمَةٌ خَرْمَاءُ سَوْدَاءُ ذَاتُ دِيْنٍ أفْضَلُ"

ความว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าแต่งงานกับบรรดาสตรี เนื่องด้วยความสวยงามของนาง อาจเป็นไปได้ว่าความสวย จะทำให้บรรดานางจมอยู่กับความหายนะได้ (ด้วยเหตุแห่งความหลงตัวเองและอวดดี)

อย่าแต่งงานกับบรรดาสตรีเนื่องด้วยทรัพย์สมบัติของนาง อาจเป็นไปได้ว่า ทรัพย์สมบัติจะทำให้บรรดานางผยองพองขน (นับเป็นความเลวร้าย)

แต่จงเลือกแต่งงานกับบรรดาสตรีเนื่องด้วยศาสนา แม้ว่า (สตรีที่ถูกเลือกแต่งงาน) นั้น จะเป็นทาสีที่จมูกโหว่ หูวิ่น ผิวดำ แต่ยึดมั่นในศาสนายังดีเสียกว่า (หญิงมุชริกที่มิใช่ทาสี)

แต่ถ้าสตรีผู้นั้น มีทั้งศาสนาและความสวยรวมอยู่ตัวของนางในเวลาเดียวกัน ถือได้ว่านั่นเป็นคุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นความสุขที่สมบูรณ์ (เนี๊ยะฮฺมะฮฺ) แต่ทว่า ทุกสิ่งที่บกพร่องไปนั้นสามารถมองข้ามผ่านไปได้โดยไม่ต้องสนใจ แต่ความบกพร่องทางศาสนานั้น จะละเลยไม่ใส่ใจไม่ได้เด็ดขาด

หลังจากที่การสมรสเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว อิสลามใช้ให้ทั้งสองสามีภรรยาอยู่ร่วมกันด้วยความดีงาม ณ ที่นี้ พวกเราเข้าใจและทราบซึ่งถึงเหตุผล รู้ถึงการห่วงใยและเอาใจใส่ของอิสลาม ต่อเรื่องการเลือกคู่ครอง เพราะบุคคลทั้งสองเป็นองค์ประกอบหรือหลักค้ำจุนครอบครัวให้อยู่ได้ และด้วยความดีของคนทั้งสองครอบครัวก็จะดีตามมาด้วยเช่นกัน ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺ ตะอาลา

อิสลามห่วงใยและใส่ใจในเรื่องของการเลือกคู่ครอง ก็เพื่อต้องการให้มีชีวิตคู่ที่ดีจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข

ขั้นตอนหลังจากนั้นคือ การสร้างครอบครัว อิสลามให้ความสนใจและห่วงใยการอบรมเลี้ยงดู ลูกหลานซึ่งเป็นผลที่เกิดจากคู่สามีภรรยา จึงได้กำชับผู้เป็นพ่อแม่ให้ฝึกฝนอบรมลูกหลานของทั้งสองให้กระทำความดี และออกห่างไกลจากความเลวร้าย

ท่านร่อซูล กล่าวว่า

"مُرُوْا أوْلادَكُمْ بِالصَّلاةِ وَهُمْ أبْنَاءُ سَبْعَ سِنِيْنَ وَاضْرِبُوْهُمْ عَلَيْهَا لِعَشْرٍ وَفَرَّقُوْا بَيْنَهُمْ فِي الْمَضاجِعِ"

ความว่า “พวก ท่านจงใช้ให้ลูกๆของพวกท่าน ทำการละหมาดในขณะที่เขามีอายุ 7 ขวบ และจงเฆี่ยนตีพวกเขา เมื่อมีการทิ้งละหมาดขณะที่มีอายุ 10 ขวบ และจงแยกที่นอนในระหว่างลูกๆทุกคน” (คือไม่ให้นอนรวมกันอยู่ในที่นอนเดียวกัน)

อิสลามกำชับให้ความเที่ยงธรรมและยุติธรรมในระหว่างลูกๆทุกคนในการมอบสิ่งของ ให้แก่พวกเขา อิสลามห้ามมิให้ผู้เป็นพ่อเลือกให้ คือให้แก่ลูกคนหนึ่งและไม่ให้อีกคนหนึ่ง เพราะการกระทำเช่นนั้น จะนำพาไปสู่การเกลียดชัง และเคียดแค้นกัน จะนำไปสู่การห่างเหินและทะเลาะวิวาทกันซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ครอบครัวแตกแยก และโครงสร้างของครอบครัวก็ต้องพังทลายลงไป

มีรายงานจากท่าน อัลนุอฺมาน (นัวะอฺมาน) อิบนิ บะชีร กล่าวว่า

"تَصَدَّقَ عَلَيَّ أبِيْ بِبَعْضِ مَالِهِ فَقَالَتْ أُمِّيْ عُمْرَةُ بِنْتُ رَوَاحَةَ لاَ أرْضَى حَتَّى تُشْهِدَ رَسُوْلُ الله

لِيُشْهِدَهُ عَلَى صَدَقَتِيْ فَانْطَلَقَ أبِيْ إلَى النَّبِيِّ فَقَالَ لَهُ رَسُوْلُ الله أفَعَلْتَ هَذَا بِوَلَدِكَ كُلُّهُمْ

قَالَ لاَ ، قَالَ اتَّقُوا اللهَ وَاعْدِلُوْا فِيْ أوْلادِكُمْ فَرَجَعَ أبِيْ فَرَدَّ تِلْكَ الصَّدَقَةَ"

ความว่า “บิดาของฉันได้มอบทรัพย์บางส่วนของเขาให้แก่ฉัน มารดาของฉัน อุมเราะฮฺ บุตรีร่อวาฮะฮฺ ก็กล่าวว่า ฉันยังไม่ยินยอมจนกว่าคุณจะไปหาท่านร่อซูล ให้ท่านเป็นสักขีพยานยืนยันเสียก่อน บิดาของฉันจึงได้ไปหาท่านร่อซูล เพื่อให้ท่านเป็นพยานในทรัพย์สินที่บิดาของฉันมอบให้

ท่านร่อซูล ถามว่า ท่านทำเช่นนี้กับลูกของท่านทุกคนหรือไม่ ?

บิดาของฉัน กล่าวว่า ไม่ (ไม่ได้ทำเช่นนี้กับทุกคนหรอก)

ท่านร่อซูล กล่าวว่า “พวกท่านจงกลัวเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงให้ความยุติธรรมแก่ลูกๆของพวกท่านทุกคน แล้วบิดาของฉันเอาทรัพย์สินนั้นกลับคืนมา (จากฉัน)

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

ท่านนบี ส่งเสริมให้มีการอบรมบ่มนิสัยให้มีมารยาทและความประพฤติที่ดี โดยท่านร่อซูล กล่าวว่า

"مَا نَحَلَ وَالِدٌ وَلَداً مِنْ نَحْلٍ أفْضَلُ مِنْ أدَبٍ حَسَنٍ"

ความว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ผู้เป็นพ่อจะมอบให้แก่ลูก ดีไปกว่าการมอบมารยาทที่ดีงามให้แก่ลูก”

(บันทึกโดย ท่านอิมาม อัตติรมิซีย์)

ท่านอิบนุ ญะรี๊ร และอิบนุ มุนซิร ได้รายงานฮะดีษจากท่านอิบนุ อับบ๊าส ท่านรอซูล กล่าวว่า


"اعْمَلُوْا بِطَاعَةِ اللهِ وَاتَّقُوْا مَعَاصِيَ اللهِ وَمُرُوْا أوْلاَدَكُمْ بِامْتِثَالِ اْلأوَامِرِ وَاجْتِنَابِ النَّوَاهِيْ

فَذَلِكَ وِقَايَةً لَهُمْ مِنَ النَّارِ"

ความว่า “พวก ท่านจงปฏิบัติงานด้วยการเชื่อฟัง อัลลอฮฺ ตะอาลา จงระวังการละเมิดฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และจงใช้ลูกๆของพวกท่านทำตามคำสั่งใช้ และปลีกตัวออกห่างจากสิ่งที่ถูกห้ามเอาไว้ เพราะนั่นเป็นการป้องกันพวกเขาและพวกท่านจากไฟนรก”

ท่านอัฏฏ๊อบรอนีย์ รายงานจากท่าน อะลีย์ กัรร่อมัลลอฮฺ วัจฮะฮู ว่า ท่านนบี กล่าวว่า

"أدِّبُوْا أوْلادَكُمْ عَلَى ثَلاَثِ خِصَالٍ: حُبُّ نَبِيِّكُمْ وَحُبُّ آلِ بَيْتِهِ وَتِلاَوَةِ الْقُرْآنِ فَإنَّ حَمَلَةَ

الْقُرْآنِ فِيْ عَرْشِ الله يَوْمَ لاَ ظِلَّ إلاَّ ظِلُّهُ مَعَ أنْبِيَائِهِ وَأصْفِيَائِهِ"

ความว่า “พวก ท่านทั้งหลาย จงปลูกฝั่ง อบรม บ่มนิสัยลูกๆของพวกท่านให้มีลักษณะที่ดี 3 ประการคือ 1. รักนบีของพวกท่าน 2. รักวงศ์วานของท่านนบี 3. รักการอ่านอัลกุรอ่าน

เพราะ ว่าผู้ที่ท่องจำอัลกุรอ่านจะได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺ ตะอาลา กับบรรดานบี และผู้บริสุทธิ์ที่เป็นที่รักใคร่ของพระองค์อัลลอฮฺ ในวันที่ไม่มีร่มเงาใดๆทั้งสิ้น นอกจากร่มเงาจากพระองค์”

ท่านอิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากอิบนุ อับบ๊าส จากท่านนบี ว่า

"أكْرِمُوْا أوْلاَدَكُمْ وَأحْسِنُوْا أدَبَهُمْ"

ความว่า “พวกท่านทั้งหลาย จงรัก จงให้เกียรติลูกๆของพวกท่าน และจงอบรม บ่มนิสัยลูกๆของพวกท่านให้มีมารยาท มีความประพฤติที่ดี”

(บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ)

ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงกำชับผู้เป็นพ่อ เป็นแม่ ให้เอาใจใส่ในการอบรมนิสัยลูกๆให้เป็นคนดี และพระองค์ทรงใช้ให้ผู้เป็นพ่อแม่ทำดีต่อลูกๆ และแน่นอนพระองค์ก็ได้ทรงใช้ลูกๆกระทำดี เชื่อฟังพ่อแม่ทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนทั้งสองมีอายุมากขึ้น ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวว่า

"وَقَضَى رَبُّكَ أَلا تَعْبُدُوا إِلا إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِنْدَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلاهُمَا

فَلا تَقُلْ لَهُمَا أُفٍّ وَلا تَنْهَرْهُمَا وَقُلْ لَهُمَا قَوْلا كَرِيمًا (23) وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ

الرَّحْمَةِ وَقُلْ رَبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيرًا".(سورة الإسراء: 23-24 )

ความว่า “และพระเจ้าของเจ้าได้เน้นย้ำว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใด นอกจากเฉพาะพระองค์เท่านั้น

และจงทำดีต่อบิดามารดาทั้งสอง เมื่อคนใดในสองคนหรือทั้งสองคนเข้าสู่วัยชรา ก็จงอย่าพูดกับคนทั้งสองว่า “อุฟ” (เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพแสดงออกถึงความเบื่อระอา)

และอย่าตะคอกคนทั้งสอง แต่จงพูดกับท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน และจงนอบน้อม ถ่อมตนสงสารท่านทั้งสอง

และ จงกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงโปรดเมตตาท่านทั้งสอง ประดุจดังที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันมาในขณะที่ยังเยาว์วัย”

(อัลอิสรออฺ /23-24)

ดังนั้น อัลลอฮฺ ได้ทรงใช้ให้พ่อแม่ทำดีต่อลูกๆ ในขณะเยาว์วัย และยังอ่อนแออยู่ และพระองค์ทรงใช้บรรดาลูกๆทำดี นอบน้อม ถ่อมตน และสงสารท่านทั้งสอง ขณะที่ท่านทั้งสองเข้าสู่วัยชรา และอ่อนแอลง

กรณีดังกล่าวนั้น เป็นการรับผิดชอบ และร่วมมือกันระหว่างคนในครอบครัวต่อสิ่งที่พึงให้ความสำคัญ ซึ่งจะให้คุณประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือ ร่วมใจช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณงามความดี และในการกลัวเกรงอัลลอฮฺ ตะอาลา นั่นคือ ใช้กันให้กระทำความดีงามและป้องปรามกันมิให้กระทำในสิ่งที่เลวร้ายในระหว่าง บุคคลในครอบครัวเดียวกัน

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า

"يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنْفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا وَقُودُهَا النَّاسُ وَالْحِجَارَةُ".(سورة التحريم: 6)

ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้า ให้พ้นจากไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือ มนุษย์และหิน (เจว็ด)

(อัตตะฮฺรีม /6)


ดังนั้นอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธา ปกป้องตัวของพวกเขา และปกป้องครอบครัวของเขา ตลอดจนบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของพวกเขาให้พ้นจากไฟนรก ซึ่งไม่มีผู้ใดจะรอดพ้นไปได้ นอกจากปฏิบัติตามและเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตะอาลา และละทิ้งสิ่งที่ถูกห้ามมิให้กระทำต่างๆ และหันมาร่วมมือช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมความดี และการตักวา (กลัวเกรงอัลลอฮฺ) และเช่นเดียวกันการระมัดระวังรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิต จึงเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องพยายามระมัดระวังรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้อื่น ที่เป็นญาติพี่น้องด้วยเหมือนกัน

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า

"وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا".(سورة التحريم: 123)

ความว่า “และเจ้าจงใช้คนในครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนต่อการปฏิบัติการละหมาด”

(ฏอฮา /132)

ณ ที่นี้ เราทุกคนได้ทราบกันแล้ว ครอบครัวจะมีคุณค่าราคานั้น อยู่ที่ผู้แบกรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวจักต้องใช้ให้กระทำละหมาด และกระทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ต่างๆอีกมากมาย และละทิ้งการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน และสิ่งที่ต้องห้ามทั้งหลาย ทั้งนี้รวมไปถึงการยึดเอาสิ่งที่จะนำพาความดีมาสู่บ้านเรือนอันได้แก่ การเรียนรู้สิ่งที่จำเป็น จะต้องรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของศาสนา และอบรมบ่มนิสัยให้คนในครอบครัวมีจริยธรรม มีความประพฤติอันดีงาม และใช้ให้คนในครอบครัวกระทำในสิ่งที่ชอบธรรม และห้ามปรามมิให้กระทำสิ่งที่ชั่วช้าเลวทราม

เพราะฉะนั้น ขอให้พวกท่านจงมีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ ตะอาลา และพึงรู้เถิดว่า ครอบครัวดีเป็นสาเหตุทำให้เกิดพลังและจะทำให้เกิดความสดชื่นทั้งในโลกดุนยา และอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน…


มูลนิธิ ชี้นำสู่สันติสุข

0 ความคิดเห็น: