การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงในอียิปต์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wordpress, blogspot
หลังจากมีการเปิดฉากปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงต่อต้าน และผู้ประท้วงสนับสนุนประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ที่กินเวลายาวนานกว่าสัปดาห์ ดูเหมือนว่ายิ่งนานวัน การปะทะกันของม็อบผู้ประท้วงทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เรื่อย ๆ ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเช้ามืดของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดฉากยิงกราดบริเวณจตุรัสตอร์รีใจกลางกรุงไคโร กินเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง และเหตุการณ์สงบลงเมื่อฟ้าสาง ก่อนที่ผู้ประท้วงสนับสนุนประธานาธิบดีมูบารัค จะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่จตุรัสอีกครั้งพร้อมด้วยท่อนเหล็กและท่อนไม้ แล้วเข้าตะลุมบอนกับผู้ประท้วงฝ่ายตรงข้าม โดยมีการขว้างปาก้อนหิน และตีกันชุลมุน ขณะที่ทหารบนรถถังก็ยืนเฝ้าสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้เข้าแทรกแซงหรือให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด
แม้จะมีการปะทะกันหลายครั้ง และเสียชีวิตไปแล้วหลายศพ อีกทั้งยังมีการเรียกร้องให้ยุติการประท้วงจากหลายฝ่าย แต่ผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติการประท้วงแต่อย่างใด ผู้ประท้วงหลายพันคน ยังคงปักหลักและตั้งป้อมปราการป้องกันตัวเองภายในจตุรัส และปะทะกันด้วยการปาก้อนหินอยู่เป็นระยะ ๆ จนผู้ประท้วงที่อยู่ในจตุรัสต้องนำสิ่งของใกล้ตัวที่พอจะ หาได้ เช่น กล่อง กะทะ หม้อ ตะกร้า มาครอบศีรษะตนเองไว้เพื่อป้องกันแรงกระแทกของก้อนหิน ขณะที่ฝ่ายทหารที่สังเกตการณ์อยู่ ได้พยายามเข้าแยกกลุ่มผู้ประท้วงทั้งสองกลุ่มไม่ให้เข้าปะทะ หรือตะลุมบอนกัน และรถถังได้หันปากกระบอกปืนไปทางผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุน ที่ปาก้อนหินลงมาจากสะพานลอยอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประท้วงก็ไม่ได้เกรงกลัวแต่อย่างใด ยังคงปาก้อนหินและเข้าทำร้ายผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านอยู่เป็นระยะ
จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 900 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงครั้งนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 150 คนแล้ว และมีการคาดการณ์ว่า หากยังไม่มีการยุติการประท้วง อาจทำให้มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คนเลยทีเดียว
การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงในอียิปต์
การ ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงในอียิปต์
พื้น ถนนที่เต็มไปด้วยก้อนหินที่ผู้ประท้วงใช้ขว้างปาใส่กัน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีมูบารัค ได้ปรากฎตัวขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และก่อเหตุรุนแรงด้วยการขว้างปาระเบิดเพลิง และขี่ม้าขี่อูฐไล่ตีผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัคด้วยท่อนไม้ ซึ่งทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสันนิษฐานจากหลายฝ่ายว่า การกระทำของกลุ่มสนับสนุนประธานาธิบดีมูบารัคนี้เกิดจากการยั่วยุของรัฐบาล หรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริง ก็ขอให้ยุติการประท้วงโดยทันที
ส่วนทางด้านผู้นำประเทศในยุโรปหลายประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกต่อสถานการณ์ความรุนแรงในอียิปต์ และประณามทุกฝ่ายผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง รวมถึงผู้ที่ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงในครั้งนี้ ที่ทำให้สถานการณ์ในอียิปต์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก อีกทั้งยังมีการเรียก ร้องให้ประธานาธิบดีมูบารัคถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของ ประชาชนโดยเร็วและโดยสันติวิธี เพราะการถ่ายโอนอำนาจเท่านั้นที่จะยุติปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นี้ได้ ดังนั้น รัฐบาลอียิปต์ควรรับฟังเสียงของประชาชน และประธานาธิบดีมูบารัคควรลาออกโดยเร็ว
ขณะเดียวกันกับที่ "อิควานมุสลีมีน" กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรนอกกฎหมายที่มีผู้สนับสนุนอย่างกว้างขวางในอียิปต์ ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารัคลาออก และจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นเพื่อยุติปัญหานี้เช่นกัน โดยหลังจากที่มีการออกแถลงการณ์จากกลุ่มมุสลีมีนแล้ว บรรดาชาติตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับประธานาธิบดีมูบารัคต่างเกรงว่ากลุ่มมุ สลีมีนนี้จะขึ้นครองอำนาจได้ ขณะที่ประชาชนกำลังปะทะกัน แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มมุสลีมีนก็ยังไม่มีการเข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้แต่อย่างใด
จากการเรียกร้องให้โอนถ่ายอำนาจจากหลายฝ่าย กระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ก็ได้ออกมาแถลงการณ์ ปฏิเสธการเรียกร้องให้มีการโอนถ่ายและเปลี่ยนผ่าน โดยระบุว่า การเรียกร้องนี้มีแต่จะปลุกปั่นสถานการณ์ภายในของอียิปต์ให้ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ
กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านร่วมกันทำลายรูปประธานาธิบดีมูบา รัค
และล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เกี่ยวกับการประท้วงอันเกี่ยวข้องกับตนเองว่า ตนอยากจะลาออก แต่หวาดกลัวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น จึงไม่ลาออกจากตำแหน่งโดยทันที โดยเขาได้กล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาไม่อยากเห็นคนอียิปต์ทะเลาะกันเอง เขาอยากจะลาออกเสียทีหลังจากทำงานบริการสังคมมากว่า 62 ปี และเป็นประธานาธิบดีมา 30 ปี มันเพียงพอแล้ว แต่ถ้าหากเขาลาออกในวันนี้ มันก็จะเกิดความโกลาหลขึ้นอย่างแน่นอน และตอนนี้ เขาไม่สนว่าใครจะพูดถึงเขาอย่างไร เขาเป็นห่วงประเทศอียิปต์มากกว่า
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้กล่าวเตือนไปยังประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่แนะนำให้เขาลาออกจากตำแหน่งว่า "คุณไม่รู้ไม่เข้าใจ วัฒนธรรมของชาวอียิปต์ และคุณก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าผมลงจากตำแหน่งไปตอนนี้" พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เขาเป็นคนอียิปต์ และเขาจะตายบนแผ่นดินอียิปต์
ทั้งนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอียิปต์ขณะนี้ ได้สร้างความหวาดกลัวและวิตกไปทั่วโลก โดยหลายประเทศได้มีการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนของตัวเองที่อาศัยอยู่ใน อียิปต์และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ความรุนแรงแล้ว พร้อมทั้งได้มีการยกเลิกเที่ยวบินเกือบทั้งหมดที่จะเดินทางไปยังกรุงไคโร รวมถึงประเทศไทย ขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังหาทางเข้าช่วยเหลือคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศอียิปต์ ที่ได้แจ้งความจำนงขอเดินทางกลับประเทศไทยแล้วกว่า 800 คนจากทั้งหมดกว่า 1,000 คน ซึ่งการช่วยเหลือในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ร่วมมือกันกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการช่วยเหลือประชาชนของทั้ง 3 ประเทศออกมาจากประเทศอียิปต์โดยเร็วที่สุด โดยมีการส่งเครื่องบินไปรับ ขณะที่มาเลเซียเองก็ได้ส่งเรือไปรับด้วยอีกทางหนึ่งแล้ว ส่วนคนไทยที่มีญาติอาศัยอยู่ในอียิปต์ หากติดต่อญาติไม่ได้ ก็ให้ติดต่อผ่านทางกงสุล เพื่อประสานงานกับทางสถานทูต ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-5751047-51
การประท้วงต่อต้าน ประธานาธิบดีมูบารัค วันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา
การปะทะกันระหว่างม็อบ ต่อต้านและหนุนมูบารัึค
การปะทะกันระหว่างม็อบ ต่อต้านและหนุนมูบารัึค
0 ความคิดเห็น: