อิสลามกับเทศกาลสงกรานต์/ทำไมมุสลิมจึงเล่นสาดน้ำสงกรานต์ไม่ได้


วันสงกรานต์ เป็นวันปีใหม่ของศาสนาอื่น ซึ่งเทศกาลดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับบรรดามุสลิมเลยแม้แต่น้อย จึงไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิมต่อการร่วมแสดงความยินดีหรือร่วมเฉลิมฉลอง และร่วมสนุกสนานในวันดังกล่าว.....



ปัจจุบันสิ่งที่เป็นประเพณี,วัฒนธรรมที่มิใช่อิสลามมีจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเทศกาลสาดน้ำสงกรานต์ ซึ่งดูเหมือนมุสลิมของเราบางส่วน โดยเฉพาะเยาวชนมุสลิมยังนิยมร่วมเทศกาลสงกรานต์และร่วมสาดน้ำกับต่างศาสนิก อย่างสนุกสนาน แต่ทว่าอิสลามกลับห้ามมุสลิมเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ในทุกกรณี เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นเรื่องศาสนา และเป็นความเชื่ออื่นจากอิสลาม, พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า “สำหรับพวกท่านคือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉัน คือศาสนา (ของฉัน)” อิสลามไม่อนุญาตให้ร่วมกิจกรรมบนพื้นฐานของประเพณีที่มิใช่อิสลามหรือเลียน แบบชนกลุ่มใด เพราะถ้าหากเราเลียนแบบเราก็จะเหมือนชนกลุ่มนั้น และที่สำคัญเราในฐานะที่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามจะต้องแสดงจุดยืน หรือภาพลักษณ์แห่งมุสลิม โดยทำตัวแตกต่างว่าด้วยสิ่งที่มิใช่อิสลาม
ด้วยเหตุผลข้างต้นพอสรุปได้ว่า อิสลามห้ามมุสลิมร่วมเทศกาลสงกรานต์ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเข้าไปเดินร่วมงาน สงกรานต์ หรือร่วมเล่นสาดน้ำสงกรานต์ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเตือนให้มุสลิมยับยั้งตนเองมิให้พลั้งเผลอไปร่วมเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งผู้ปกครองก็มีความจำเป็นที่จะต้องห้ามปรามลูกหลานของตนเองอย่างเด็ด ขาดที่จะมีส่วนร่วมใดๆ กับเทศกาลสงกรานต์
และท้ายนี้ขอให้พี่น้องมุสลิมช่วยกันยืนหยัดห้ามปรามการเข้า ร่วมเทศกาลที่มิใช่อิสลามต่อไป และขอให้องค์กรมุสลิมทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถ เพราะทุกๆ หน้าที่จะถูกสอบสวนในวันแห่งโลกหน้า .....


ทำไมมุสลิมจึงเล่นสาดน้ำสงกรานต์ไม่ได้

คัดลอกจากหนังสือ ทำไมมุสลิมจึงทำไม่ได้

ของ อ.มุรีด ทิมะเสน

ประเพณีวันตรุษสงกรานต์

สงกรานต์เป็นคำภาษาสันสกฤต มักเรียกเข้าคู่กับคำว่าตรุษ ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตเช่นกันรวมกันเป็นตรุษสงกรานต์ คำว่า ตรุษ หมายถึง เทศกาลเนื่องในการสิ้นปีซึ่งกำหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 (ราชบัณฑิตยสถาน. 2525 : 325)

ส่วนคำว่าสงกรานต์ หมายถึง เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่า ซึ่งกำหนดตามสุริยคติ คือวันที่ 13,14และ 15 เมษายน (ราชบัณฑิตยสถาน. 2525 : 777) แปลว่า ตัด หรือขาด คือตัดขาดจากปีเดิมหรือสิ้นปีเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง เรียกว่าส่งปีเก่า ส่วนสงกรานต์ แปลว่า เคลื่อน ย้าย ผ่าน อันได้แก่พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักราศีใดราศีหนึ่ง และจักราศีนั้นแบ่งออกเป็น 12 ส่วนเท่ากัน หรือ 12 ราศี แต่ละราศีมีกลุ่มดาวอยู่ในราศีนั้นด้วย เมื่อพระอาทิตย์โคจรเข้าไปในราศีใดแล้วกว่าดวงอาทิตย์ผ่านพ้นไปได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ผ่านพ้นไปครบ 12 ราศีก็นับเป็นเวลา 1 ปี (เสฐียรโกเศศ. 2516 : 6) ด้วยเหตุนี้ตรุษสงกรานต์จึงหมายถึงวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่อย่างเก่าของไทย

ประเด็นชี้แจง

จากเนื้อหาข้างต้นพอสรุปได้ว่า วันสงกรานต์ถือว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ดังนั้นเมื่อวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ของไทย มุสลิมที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยย่อมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับวันดังกล่าว เพราะอิสลามมิได้บัญญัติหรือ ส่งเสริม ให้สนุกสนานรื่นเริง ในวันขึ้นปีใหม่ของชนชาติอื่นหรือแม้กระทั่งวันขึ้นปีใหม่ของอิสลามเองก็ตาม ดังเช่นมุสลิมบางกลุ่มเข้าใจผิดว่า วันที่ 1 มุหัรร็อมของทุกปี คือวันขึ้นปีใหม่ของอิสลาม

ส่วนวันที่อิสลามอนุมัติให้รื่นเริงได้มีเพียงสองวันในรอบปีเท่านั้น คือวันอีดุลฟิฏฺริและอีดุลอัฎหา ดังที่ท่านอนัสได้กล่าวไว้ว่า

เมื่อท่านนบีมุหัมมัดมาถึงนครมะดีนะฮฺ พวกชาวเมืองก็มีวันรื่นเริงอยู่สองวัน ท่านจึงถามขึ้นว่า ทั้งสองวันนั้นคือวันอะไร?พวกเขา ตอบว่า ในสมัยก่อนศาสนาอิสลามพวกเราได้มีการละเล่นกันท่านนบีจึงกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดวันทั้งสองให้แก่พวกท่านซึ่งดีกว่าวันทั้งสองนั้น ก็คือวันอัฎหา และวันฟิฎฺริ

ฉะนั้น เมื่ออิสลามมิได้กำหนดวันขึ้นปีใหม่ให้แกบรรดามุสลิม จึงถือว่าไม่อนุญาตให้จัดงานเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ ไม่ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่อ้างว่าเป็นของอิสลามหรือของศาสนาอื่นก็ตาม

ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวไว้ว่าบุคคลใดที่เลียนแบบชนกลุ่มอื่น ดังนั้น เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้นด้วย

วัน สงกรานต์เป็นวันปีใหม่ของศาสนาอื่น ซึ่งเทศกาลดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับบรรดามุสลิมเลยแม้แต่น้อย จึงไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิมต่อการร่วมแสดงความยินดีหรือร่วมเฉลิมฉลอง และร่วมสนุกสนานในวันดังกล่าว...

ประวัติความเป็นมาของวันสงกรานต์

วันสงกรานต์ตกอยู่ในวันที่ 13,14และ 15 เมษายนของทุกปี การกำหนดวันสงกรานต์ในปีแรกเป็นครั้งแรกเผอิญตรงกับวันที่ 13 เมษายน ปีต่อๆมาจึงต้องยึดเอาตามวันที่กำหนดครั้งแรกนั้น ที่จริงแล้ววันสงกรานต์อาจจะไม่ใช่วันที่ 13 เมษายนก็ได้ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เมษายนเรียกว่าวันเนา ซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ และวันที่ 15 เมษายนเป็นวันเถลิงศกขึ้นปีศักราชใหม่

วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2483 พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในปีนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทินต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้วันขึ้นปีใหม่ จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม เมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2483 และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการ และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2483 โดยให้ขึ้นปีใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2484

ตำนานวันสงกรานต์

ตำนานในวันสงกรานต์นี้ได้ปรากฏในเทพนิยายของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูอยู่เรื่องหนึ่ง และได้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามดังต่อไปนี้

เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านของเขาอยู่ใกล้กับบ้านของนักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน มีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นได้เข้าไปกล่าวคำหยาบคายต่อเศรษฐี และเศรษฐีถามเขาว่าเหตุใดเขาจึงมาหมิ่นประมาทต่อเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติมาก นักเลงสุราได้ตอบว่าถึงเศรษฐีมีสมบัติมากก็ไม่มีบุตร เมื่อเศรษฐีตายแล้วทรัพย์สมบัติก็สูญเปล่า นักเลงสุรากล่าวว่าตนประเสริฐกว่าเศรษฐี เศรษฐีมีความละอายแล้วจึงบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรถึง 3 ปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารขนไปยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนก ทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งจิตอธิฐานขอบุตร พระไทรมีความกรุณา จึงเหาะไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์ได้ให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภริยาของเศรษฐี เมื่อนางคลอดบุตรออกมา จึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร แล้วปลูกปราสาท 7 ชั้น ให้อยู่ใต้ต้นไม้ไทรริมฝั่งแม่น้ำ ธรรมบาลกุมารโตขึ้นได้เรียนรู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจนจบ เมื่ออายุ 7 ขวบและได้เป็นครูสอนมงคลการต่างๆแก่คนทั้งหลาย มงคลเหล่านั้นมีอยู่ 12 มงคล อันได้แก่ การโกนผมไฟ การเจาะหู การตั้งชื่อเด็ก การสอนเด็กให้เดิน ให้พูด การเปิบข้าว การนุ่งผ้า การว่ายน้ำ การโกนจุก การตัดเล็บ การตกแต่งร่างกาย และการแต่งงาน

ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวกบิลมหาพรหมองค์หนึ่ง ว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อท้าวกบิลมหาพรหมทราบจึงลงมาถามปัญหา 3 ข้อกับธรรมบาลกุมาร โดยให้สัญญากันไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารแก้ปัญหานั้นได้ จะตัดเศียรบูชาความรู้ของธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารแก้ปัญหานั้นไม่ได้ต้องตัดศีรษะของตนบูชาท้าวกบิลมหาพรหมภายใน 7 วัน ปัญหา 3 ข้อนั้นมีอยู่ว่า

ข้อ 1.ตอนเข้าราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน

ข้อ 2.ตอนเที่ยงราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน

ข้อ 3.ตอนเย็นราศีของ มนุษย์อยู่ที่ไหน

เมื่อเวลาล่วงไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารยังคิดไม่ออก จึงนึกว่าพรุ่งนี้เป็นวันที่ตนต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลมหาพรหม ธรรมบาลกุมารไม่ต้องการตายจึงคิดหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า แล้วลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล 2 ต้น ซึ่งมีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีได้ถามสามีของมันว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารที่ใด สามีของนางนกอินทรีตอบว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลมหาพรหมจะฆ่าเสีย เพราะธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบปัญหา 3 ข้อของท้าวกบิลมหาพรหมได้ นางนกอินทรีจึงถามสามีของมันว่า ปัญหา 3 ข้อนั้นมีอย่างไร สามีของนางนกอินทรีบอกว่าตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน ตอนเย็นราศีของมนุษย์อยู่ที่ไหน นางนกอินทรีก็ถามสามีของมันว่าปัญหานั้นแก้อย่างไร สามีของนางนกอินทรีได้บอกว่า ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ตอนเที่ยงราศีของมนุษย์อยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมปะพรมที่อก ส่วนตอนเย็นราศีของมนุษย์อยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า (คณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ.2529 : 84)

ธรรมบาล กุมารได้ยินการสนทนาของนกอินทรี 2 ผัวเมียเช่นนั้นแล้ว ก็ได้กลับไปยังปราสาทของตน ครั้นวันรุ่งขึ้นท้าวกบิลมหาพรหมได้มาถามปัญหา 3 ข้อนั้น ธรรมบาลกุมารได้ตอบคำถามนั้นถูกต้อง ท้าวกบิลมหาพรหมจึงเรียกเทพธิดาทั้งเจ็ดผู้เป็นบริจาริกา(แปลว่าหญิงรับใช้ หรือภรรยา) พระอินทร์มาพร้อมกันแล้วบอกว่าเราจะตัดศีรษะของเราบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าศีรษะ ของเราตั้งไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้ทั่วโลก ถ้าทิ้งขึ้นบนอากาศฝนจะแล้งถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงให้เทพธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารองรับศีรษะ แล้วตัดศีรษะส่งให้ธิดาองค์ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรของบิดาไว้ แล้วแห่ประทักษิณ(คือการแห่เวียนขวา) รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องพิมพ์ต่างๆ พระเวสสุกรรมหรือวิษณูกรรมก็นิรมิตโลงด้วยแก้วเจ็ดประการชื่อภควดีให้เป็น ที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงได้นำเถาฉมูนาค(ไม่ทราบว่าเถาอะไร น่าจะเป็นเถาไม้ที่ใช้หมักสำหรับทำน้ำโสมหรือสุรา) มาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุกพระองค์ ครั้นถึงครบกำหนด 365 วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดา 7 องค์ จึงผลัดเวรกันองค์ละ 1 ปี มาอัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก (วีระชัย มีชอบธรรม และคณะ.2530 : 123,สุเมธ เมธาวิทยากุล. 2535 : 6)

นางเทพธิดา 7 องค์ ที่ผลัดเวรกันมาอัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปีนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ว่าถ้าวันมหาสงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันอะไร และเป็นเวรของนางเทพธิดาองค์ใดเป็นไปดังนี้



ประเด็นชี้แจง

ตำนานของวันสงกรานต์มาจากความเชื่อที่ปรากฏในเทพนิยายของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู โดยเชื่อว่าเมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ตาม เช่น วันตรงกับวันอาทิตย์ วันศุกร์ หรือวันอื่นๆ ภายในสัปดาห์ เหล่าธิดาของท้าวกบิล มหาพรหม จะทำหน้าที่ออกมาอัญเชิญพระเศียรบิดาของพวกนางตามวันที่ถูกกำหนดไว้

เช่นนั้นสมมติว่าวันที่ 13 เมษายนตรงกับวันพุธเท่ากับว่านางมณฑาเทวีจะออกมารับพระเศียรของเท้ากบิลมหาพรหม เพื่อนำมาแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุของปีนั้น

ความเชื่อดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันสำหรับบุคคลที่นับถือและเชื่อถึงการร่วมพิธีกรรมในวันสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์ ฮินดู หรือศาสนาพุทธก็ตาม

ส่วนของศาสนาอิสลามได้กำหนดขอบเขตของความเชื่อไว้ว่าความเชื่อนั้นๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของอัล-กรุอานและแบบฉบับของท่านนบีมุหัมมัดเท่านั้น ส่วนความเชื่อที่ขัดกับหลักการของอิสลามหรืออิสลามไม่ได้กำหนดไว้ถือว่ามุสลิมทุกคนจะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้เองท่านนบีมุหัมมัดจึงกล่าวสอนไว้ว่า

โลกนี้ (ดุนยา) เปรียบเสมือนห้องขังของผู้ศรัทธาและเป็นสวรรค์สำหรับผู้ไม่ศรัทธา (ต่ออิสลาม)

คำสอนของท่านนาบีมุหัมมัด นัยหมายการดำเนินชีวิตของมุสลิมจะต้องอยู่ในขอบเขตและระเบียบที่ศาสนากำหนดไว้ตลอดเวลา จึงคล้ายกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องขังที่ไม่มีอิสระมากนัก การกระทำอะไรต้องอยู่ภายใต้กฎเกณท์ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับบุคคลที่มิใช่มุสลิม ซึ่งพวกเขามีอิสระเต็มที่ในการดำรงชีวิตของตัวเองโดยไม่มีขอบเขตและหลักเกณฑ์ตายตัว กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามอำเภอใจภายใต้จิตสำนึกแห่งความต้องการของตนเองเสมอ

ฉันใดก็ฉันนั้น แม้มุสลิมปรารถนาเข้าร่วมกิจกรรมในวันสงกรานต์มากเพียงใด ก็ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ เพราะวันดังกล่าวเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามความเชื่อของชาวพุทธ ส่วนมุสลิมมีวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดบนพื้นฐานของพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งไม่ใช่วันรื่นเริง หรือวันแห่งการเฉลิมฉลองของศาสนาอิสลามเพราะฉะนั้นมุสลิมจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวันดังกล่าวแม้แต่น้อย

การเล่นสาดน้ำสงกรานต์

วิธีเล่นสาดน้ำสงกรานต์นั้นคงมีลักษณะนั้นคงมีลักษณะคล้ายกันในทุกภาค ของราชอาณาจักรไทย แต่บางท้องถิ่นอาจมีการเล่นน้ำกันรุนแรงไป การสาดน้ำวันสงกรานต์มักแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง และการเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์นี้เกิดจาก ความเชื่อว่า การสาดน้ำจะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล

การเล่นน้ำสาดน้ำในวันสงกรานต์เป็นประเด็นที่ผู้เขียนต้องการเขียนถึงมากที่สุด เนื่องจากมุสลิมบางกลุ่มโดยเฉพาะบรรดาเยาวชนมุสลิมทั้งชายและหญิง นิยมเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์กันอย่างแพร่หลาย มีกล่าวกันว่าในบางท้องที่มุสลิมจะเล่นสาดน้ำ ก่อนวันสงกรานต์ (คือก่อนวันที่13) และเลิกสาดน้ำภายหลังวันสงกรานต์ (คือเลิกภายหลังวันที่ 15) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามุสลิมบางกลุ่มนิยมเล่นสาดน้ำสงกรานต์มากกว่าผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเสียอีก

ภาพลักษณ์ของมุสลิมจึงดูมัวหมองอย่างเห็นได้ชัดถึงการไม่มีจุดยืน และไม่ได้ศึกษาค้นคว้าถึงที่มาของวันสงกรานต์ และการเล่นสาดน้ำว่าเป็นอย่างไร? ซึ่งถ้าหากมุสลิมทราบก็คงจะได้ใคร่ครวญถึงความผิดพลาดของตนในอดีตที่ได้ร่วมเล่นสาดน้ำเป็นแน่ เพราะการสาดน้ำในวันดังกล่าวมากความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล เป็นการมอบหมายให้ฝนตกด้วยการสาดน้ำ ด้วยเหตุนี้เองที่มุสลิมไม่สามารถจะร่วมเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเยาวชนซึ่งหวังเพียงความสนุกสนานจนอาจลืมนึกถึงสิ่งที่อาจส่งผลเสียกระทบต่อความศรัทธาของตน

โปรดพิจารณาหลักฐานดังต่อไปนี้

ภายหลังการนมาซศุบหฺที่ตำบลหุดัยบิยะฮฺ ท่านนบีมุหัมมัดจึงกล่าวถามขึ้นว่า พวกท่านทราบไหมว่า พระผู้อภิบาลตรัสไว้อย่างไรกับพวกท่าน?บรรดาสหายของท่านนบีกล่าวตอบว่า พระองค์อัลลอฮฺ และศาสนฑูตของพระองค์ย่อมรู้ดียิ่งท่านนบีกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า ในตอนเช้า ส่วนหนึ่งจากปวงบ่าวของฉันนั้นศรัทธาต่อฉันและปฏิเสธต่อฉัน(กล่าวคือ)บุคคลหนึ่งกล่าวว่า เมื่อฝนตกลงมายังเรา นั่นเป็นความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺ เขาผู้นั้นศรัทธาต่อฉันและปฏิเสธต่อดวงดาว (เพราะดาวต่างๆ บนท้องฟ้าไม่สามารถทำให้ฝนตกได้), ส่วนบุคคลหนึ่งกล่าวว่า เมื่อฝนตกมายังเรานั่นเป็นเพราะดวงดาวต่างๆ โคจรที่นั้นไปยังที่โน้น เช่นนั้นแหละที่เขาได้ปฏิเสธต่อฉัน และเชื่อมั่นศรัทธาต่อดวงดาวต่างๆ

ผู้เขียนจึงใคร่ขอเรียนให้ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ได้ช่วยกันกำชับ และรณรงค์ให้มุสลิมละทิ้งการร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นสาดน้ำ ยิ่งต้องตักเตือนกันอย่างจริงจังและเข้มงวดอย่างที่สุด หวังเพียงให้เยาวชนมุสลิมในวันนี้ได้ยืนหยัดและรักษาจุยืนแห่งความเป็นมุสลิมที่แท้จริงตลอดไป

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด พอที่จะสรุปให้เป็นบทเรียนและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมุสลิมได้ดังนี้

1. มุสลิมจะต้องไม่นำสิ่งอื่นที่มิใช่อิสลามมาปฏิบัติ

มุสลิมจะต้องดำเนินชีวิตด้วยการยึดแนวทางที่ถูกกล่าวไว้ใน อัล-กุรฺอาน และแบบฉบับที่มาจากท่าน นบีมุหัมมัด เพราะพระองค์อัลลอฮฺจะทรงรับการงานจากแนวทางทั้งสองนี้เท่านั้น และพระองค์ยังทรงสั่งกำชับอย่างเน้นหนักมิให้นำสิ่งที่มิใช่อิสลามมาปฏิบัติดังนี้

และบุคคลใดก็ตามที่แสวงหาแนวทางอื่นจากอิสลาม ( นำมาปฏิบัติ ) ศาสนานั้นจะไม่ถูกรับจากเขา (หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการงานที่เป็นแบบฉบับอื่นจากอิสลามอย่างเด็ดขาด)

ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวไว้ว่า

ฉันได้ทิ้งไว้สำหรับพวกท่านสองสิ่ง ซึ่งพวกท่านจะไม่มีวันหลงทาง ตราบเท่าที่พวกท่านยึดมั่นสองสิ่งนี้ไว้ นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺและแบบฉบับจากศาสนาทูตของพระองค์ (คือสุนนะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด )

จึงสรุปได้ว่า ไม่มีช่องทางใดที่ทำให้มุสลิมสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันสงกรานต์ได้เลย เพราะเพียงแค่หลักฐานที่นำมาเสนอข้างต้นก็เป็นที่แน่ชัดตรงประเด็นอยู่แล้ว

2. พฤติกรรมของมุสลิมจะต้องแตกต่างจากศาสนิกอื่น

ท่านนบีมุหัมมัด กล่าวไว้ว่า พวกท่านจงมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี

คำกล่าวของท่านนบีมุหัมมัดบ่งบอกให้รู้ว่ามุสลิมะต้องอยู่ร่วมกับสังคมทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม โดยแสดงภาพลักษณ์แห่งการเป็นมุสลิมให้เป็นประจักษ์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าชีวิตความเป็นอยู่ จริยธรรมแห่งอิสลาม การประกอบศาสนกิจ และอื่นๆ เพื่อให้ต่างศาสนิกได้รู้ถึงมาตรฐานและจุดยืนแห่งความเป็นมุสลิมซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในทุกๆ ด้าน

เมื่อเป็นเช่นนี้หากมุสลิมผู้หนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมในวันสงกรานต์ ย่อมชี้ให้เห็นว่ามุสลิมผู้นั้นมิได้ทำตัวแตกต่างไปจากสังคมส่วนใหญ่ที่มิใช่มุสลิม ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งดังกล่าวไม่เป็นที่อนุมัติของศาสนา อีกทั้งท่านนบีมุหัมมัดได้กำชับไว้ว่า จงทำตัวให้แตกต่างจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี ซึ่งหมายรวมถึงความเชื่อและการปฏิบัติ ภาพลักษณ์ของมุสลิมควรจะเด่นชัดกว่านี้ มิเช่นนั้นแล้วผู้คนทั่วไปจะตัดสินได้อย่างไรว่าสังคมไหนคือสังคมมุสลิม และสังคมไหนมิใช่สังคมมุสลิม

3. มุสลิจะต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางสังคมอย่างมีจุดยืน

ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวไว้ว่า พวกท่านอย่าเป็นบุคคลที่ไร้จุดยืน (เขาจะมีสภาพเป็นเช่นไร) หากผู้คนทั้งหลายกระทำความดี (ที่สอดคล้องกับอิสลาม) เราก็กระทำความดีนั้นด้วย และหากว่าผู้คนทั้งหลายกระทำความชั่วร้าย เราก็กระทำความชั่วร้ายนั้นด้วย แต่ทว่าพวกท่านจงเป็นบุคคลที่มีจุดยืน (หมายถึง) หากว่าผู้คนทั้งหลายกระทำความดี เราก็กระทำความดีนั้นด้วย แต่ถ้าผู้คนทั้งหลายกระทำความชั่วร้าย เราก็ไม่กระทำความชั่วร้ายนั้น

วจนะ ของท่านนบีมุหัมมัด ชี้ประเด็นที่ชัดเจนและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมุสลิม ขณะอยู่ร่วมปะปนกับผู้คนในสังคมส่วนใหญ่โดยที่ท่านนบีได้สอนให้มุสลิมแสดง จุดยืนอย่างเด่นชัดมุสลิมจะไม่คลุมเคลือและไร้แก่นสารอย่างเด็ดขาด เพราะมุสลิมมีแนวทางเป็นของตนเอง และต้องดำเนินไปตามแนวทางนั้นถึงแม่ว่าคิดว่าดีงาม ซึ่งมีพื้นฐานมากความเชื่อ ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะได้รับอิทธิพลมากจากศาสนา ลัทธิ หรือความคิด มุสลิมถือว่าจะนำสิ่งนั้นมาปฏิบัติด้วยไม่ได้ เพราะไม่มีคำสอนมาจากศาสนาอิสลาม

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หากมุสลิมในปัจจุบันยึดมั่นอุดมการณ์มีจุดยืนชัดเจนเฉกเช่นที่กล่าวมาข้างต้น มุสลิมจะพัฒนาคุณภาพและยกระดับการเป็นมุสลิมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

4. ใก้ลวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก) มุสลิมจะต้องมีสภาพเหมือนบุคคลที่กำเถ้าถ่านไฟไว้ในมือ

ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวไว้ว่า ช่วงสมัยหนึ่งจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของฉัน (หมายถึงสภาพก่อนใกล้วันกิยามะฮฺ) จะมีบุคคลในหมู่พวกเขาที่ยืนหยัดอยู่บนศาสนาของเขา ประหนึ่งว่าเขากำถ่านไฟ (ร้อน ๆ ไว้ในมือของเขา)

ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวถึงสภาพใกล้ๆ วันสิ้นโลกว่ามุสลิมจะมีสภาพเหมือนบุคคลที่กำถ่านไฟร้อนๆ ไว้ในมือของตนเอง นั่นย่อมหมายถึง มุสลิมในยุคใกล้วันสิ้นโลกจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง มิให้เดินตามสังคมที่มีพฤติกรรมอันสวนทางกับอิสลาม ต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองมิให้ละทิ้งการประกอบศาสนกิจในช่วงนั้นและอื่น ๆ ซึ่งดูราวกับว่าตนเอง ต้องใช้ความอดทนพอ ๆ กับการกำถ่านไฟร้อนๆ ไว้ในกำมือของตนนั่นเอง แต่ถ้าไม่ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองอย่างจริงจังแล้ว เชื่อแน่เหลือเกินว่าเขาอาจเป็นบุคคลหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพที่พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ

สภาพของมุสลิมในปัจจุบันคงไม่แตกต่างอะไรกับมุสลิมในยุคใกล้วันสิ้นโลก (หรือว่ายุคนี้อาจจะถึงยุคใกล้วันสิ้นโลกก็เป็นได้) เนื่องจากมุสลิมในปัจจุบันต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองอย่างหนักหน่วง มิเช่นนั้นแล้ว มุสลิมจะไม่สามารถแสดงภาพลักษณ์แห่งอิสลามได้เลย อย่างเช่น การร่วมกิจกรรมหรือการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ เป็นบทพิสูจน์การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของมุสลิมได้เป็นอย่างดี มุสลิมคนใดที่พ่ายแพ้ให้แก่ค่านิยมความเชื่อของสังคมแล้วเข้าไปมีส่วนร่วมในวันสงกรานต์ และมุสลิมคนใดบ้างที่ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในวันสงกรานต์ ประหนึ่งผู้ที่กำลังกำถ่านไฟร้อนๆ ไว้ในมือของตน



0 ความคิดเห็น: