มรรยาทการครองเรือน

“การแต่งงาน” คือ ของขวัญชิ้นหนึ่ง อันเป็นสายสัมพันธ์พิเศษระหว่าง “ผู้ชายและผู้หญิง” หรือ “สามีและภรรยา”

ที่ผ่านมามีการนำเสนอบทความมากมายที่เกี่ยวกับ "วิธีการปฏิบัติตัวต่อคู่ครองหลังการแต่งงาน" หากแต่ไม่มีถ้อยคำใดที่จะดียิ่งไปกว่าคำสอนจากอัลกุรอานและสุนนะหฺของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม

ในบทความนี้ เราได้พยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "หลักปฏิบัติและมรรยาทของการครองคู่ฉันท์สามีภรรยา" จากหลายแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งเราหวังว่า "บทความนี้" จะช่วยนำทางและเป็นแรงบันดาลใจแก่คุณต่อการสร้างความสัมพันธ์อันมหัศจรรย์ นี้

“คู่สมรส” นั้นถูกเปรียบไว้ว่าคือ “หุ้นส่วนชีวิต” “เพื่อนร่วมทาง” และ “เพื่อนแท้ ของกันและกัน”

ความใกล้ชิดระหว่างคู่ครองนั้นต่างจากความสัมพันธ์ อื่นๆ ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้อย่างงดงามว่า “พวกนางนั้นคือเครื่องนุ่งห่มของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็คือเครื่องนุ่งห่มของพวกนาง” (ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:187) อายะฮฺนี้แสดงให้เห็นว่า “คู่ครองต่างให้การปกป้องคุ้มครอง การปลอบโยน การให้กำลังใจ การสนับสนุน การให้ความช่วยเหลือ และการสร้างความสวยงามจากเครื่องนุ่งห่มต่อกัน”

โดย ส่วนใหญ่แล้ว ในช่วงสองสามปีแรกของการแต่งงานนั้นเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุด เนื่องจากมันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสามีและภรรยาต่างทำความรู้จักตัวตนของกัน และกันให้มากยิ่งขึ้น และเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวให้เข้ากับอุปนิสัยและพฤติกรรมของอีกฝ่าย เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ของเขาทั้งสองในสังคม อย่างไรก็ตาม มีหลักการสำคัญของการครองเรือนสำหรับคู่แต่งงานมากมายที่จะนำเสนอ ให้ได้ร่วมพิจารณากันเพื่อที่จะช่วยทำให้เกิด “ความปรองดองและความเข้าใจต่อกันระหว่างสามีและภรรยา” ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้ รวมไปถึงการปฏิบัติในระยะยาวอีกด้วย

ข้อที่หนึ่ง ::ความคาดหวัง

ทุกคนต่างมีความคาดหวังเกี่ยวกับชีวิตการแต่งงานที่แตกต่างกัน หากแต่สิ่งสำคัญคือ “ความคาดหวังเหล่านั้น ควรอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง”

“ความสุขชั่วนิรันดร์” ที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ฮอลลิวูด (หรือแม้แต่ในละคร ภาพยนตร์ไทย หรือเอเชียก็ตาม) ต่างได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากมาย หากแต่เราจำต้องตระหนักว่ามันย่อมใช้เวลา ความอดทน และความเพียรพยายามอย่างมากในการที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ ให้เข้มแข็งและมั่นคงยาวนาน

สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าคาดหวังว่า “คู่ครองของคุณ” จะสมบูรณ์แบบ มีเพียงแต่ “อัลลอฮฺ” เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่สมบูรณ์แบบ พวกเราแต่ละคนต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้ที่เป็นสามีและภรรยาจำต้องเรียนรู้ที่จะพึงพอใจกับข้อดีของกันและกัน และยอมรับข้อเสียของกันและกัน เราไม่สามารถที่จะคาดหวังได้ว่าเราจะเข้ากันได้กับคู่ครองของเราในทุกๆ เรื่อง เพราะเขาไม่ได้เป็น “ส่วนขยาย” ที่แยกออกมาจากตัวเรา เขามีความเป็นตัวตนของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องของพฤติกรรม ความคิด มุมมอง สิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ไม่ชอบของเขา ซึ่งเราควรที่จะพยายามเข้าใจความเป็นตัวตนของเขามากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงเขา

ชีวิตการแต่งงานที่มีความสุขนั้นไม่สามารถสมมุติหรือจินตนาการขึ้นเอาเอง ได้ “ชีวิตการแต่งงานที่มีความสุขนั้น” ประกอบไปด้วย "การให้ที่มีความสม่ำเสมอ จากทั้งสองฝ่าย" "การตระหนักว่าเรื่องเล็กๆ นั้นสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมากมายในความสัมพันธ์" "การมีความซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง” ทั้งสามีและภรรยาควรเปิดใจพูดคุยกัน แต่ก็ควรที่จะพึงระวังไม่พูดสิ่งใดที่อาจทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่าย อีกทั้งยังควรให้การชมเชยกันสำหรับสิ่งดีดีที่อีกฝ่ายได้กระทำ และเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่คู่ครองของคุณได้กระทำให้กับคุณ

ปัญหาระหว่างคู่ครองอาจเกิดจากการขาดข้อมูลของกันและกันก่อนการแต่งงาน ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะพูดคุย เกี่ยวกับ “ความคาดหวังต่ออนาคต” กันก่อน เช่นว่า ภรรยาจะทำงานข้างนอกบ้านได้หรือไม่ เมื่อใดที่ทั้งคู่วางแผนจะมีลูก พวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ไหนและอยู่กับใครหลังการแต่งงาน หรือพวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ชีวิตการแต่งงานนั้นมีความสุข เป็นต้น

ในการแต่งงานนั้น “ผู้เป็นสามี” คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้นำครอบครัว” อย่างไรก็ตาม ตามหลักการอิสลาม “การแต่งงาน คือ การเป็นหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน” มากกว่า “การเป็นผู้บงการ ความสัมพันธ์” ดังนั้นผู้เป็นสามีควรเป็นดั่งเช่น “คนเลี้ยงแกะ” ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อฝูงแกะของเขา และในศาสนาอิสลามนั้น “ผู้นำ” คือผู้ที่ทำหน้าที่บริหาร จัดการ จัดหาสิ่งต่างๆ และให้การเลี้ยงดูครอบครัวของเขา และเขาก็กระทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความสุภาพอ่อนโยน อีกทั้ง “ผู้เป็นสามี” ควรขอคำปรึกษาจากภรรยาของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว และเขาควรให้เกียรติ และเห็นคุณค่าในความคิดเห็นของเธอ

ข้อที่สอง ::การใช้เวลาร่วมกัน

“การที่คุณทั้งสองหาเวลาให้แก่กันเพื่อใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีความ สุข” ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตคู่ เพราะ “การใช้เวลาอยู่ร่วมกัน” ย่อมทำให้คุณสามารถสื่อสารกับคู่ครองของคุณได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมไปถึงการแบ่งปันความหวัง (ความฝัน) ความหวาดกลัว ความรู้สึกรับผิดชอบต่อกันและกัน และเมื่อ “สายใยนี้” มีความมั่นคง คุณทั้งสองย่อมอยู่ใน “ทีมเดียวกัน” และทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันได้ในที่สุด

คุณควรจัดวางแบบแผนการดำเนินชีวิตคู่ของคุณเอง ซึ่งมันค่อนข้างมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทั้งสามีและภรรยาต่างทำงาน คุณทั้งสองอาจใช้เวลาเพื่อละหมาดร่วมกัน วางแผนด้านการเงินร่วมกัน หรือทำอาหารมื้อพิเศษสัปดาห์ละครั้งร่วมกัน หรือหากิจกรรมไว้ทำร่วมกัน หรือเพียงแค่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็ได้ คุณควรให้ความสนใจต่อกิจกรรมหรืองานอดิเรกของสามี/ภรรยาของคุณ และกระตุ้นให้เขามีความสนใจต่อสิ่งที่คุณชอบด้วยเช่นกัน

“สายใยแห่งชีวิตคู่ของคุณ” ย่อม ทำให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ทั้งทางร่างกายและจิตใจระหว่างกันได้ อย่างไรก็ตาม การให้ช่องว่างแก่กันบ้างในความสัมพันธ์ย่อมก่อให้เกิดความสมดุลในการดำเนิน ชีวิตคู่ มากไปกว่านั้น “การให้อภัยกัน เมื่อสามี/ภรรยาของคุณทำสิ่งใดผิดพลั้งไปและไม่เก็บความโกรธแค้นขุ่นเคือง ไว้” ย่อมเป็นสิ่งดีแก่ชีวิตคู่ของคุณด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง การพัฒนาความใกล้ชิดและความรักใคร่ระหว่างกันด้วยการสร้างเสียงหัวเราะ สร้างความสนุกสนานแก่กัน หรือการวางแผนอนาคตร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความสุขสงบในจิตใจและช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคุณ ทั้งสองให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น

ข้อที่สาม ::ความสัมพันธ์รักระหว่างสามีและภรรยา

“เวลา” และ “ความเพียรพยายาม” เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์รัก (การร่วมหลับนอน) ในชีวิตคู่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกันและกัน อีกทั้งผู้ที่เป็นสามีและภรรยาจำต้องทราบเกี่ยวกับหลักปฏิบัติของการมีความ สัมพันธ์ดังกล่าวในรูปแบบของอิสลามด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิ่งที่ได้รับการอนุมัติ (หะลาล) และสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม)

ก่อนที่จะมีความสัมพันธ์กันนั้น คู่สมรสควรที่จะสร้างบรรยากาศ หยอกล้อ สร้างความสุขต่อกันก่อน เพื่อให้เกิดความราบรื่นสะดวกง่ายดายมากขึ้นขณะที่มีความสัมพันธ์กัน

ท่าน เราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ก่อนการร่วมหลับนอนกันนั้น ผู้เป็นสามีควรขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา เผื่อว่าพระองค์จะประทานบุตรแก่เขาทั้งสอง และเพื่อที่ชัยฏอนจะไม่สามารถเข้ามาทำร้ายบุตร ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเขาทั้งสองได้ “บิสมิลลาฮฺ, อัลลอฮุมมัจญ์นิบนัชชัยฏอน วะ ญันนิบิชชัยฏอน มา เราะซักตะนา” (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ โอ้ อัลลอฮฺโปรดปกป้องเราจากชัยฎอน และปกป้องบุตร ที่พระองค์ประทานแก่เราให้พ้นจากชัยฏอนด้วยเถิด)

ท่านเราะสูลยังเคยบอกแก่บรรดาชายไว้ด้วยว่า “ไม่ให้พวกเขาทอดทิ้งภรรยาของพวกเขาจนกว่าพวกนางจะพึงพอใจ” และหากผู้เป็นสามีปรารถนาที่จะร่วมหลับนอนกับเธออีกครั้ง เขาควรที่จะอาบน้ำละหมาดก่อน เช่นเดียวกับการที่เขาอาบน้ำละหมาดก่อนการละหมาด เพราะการอาบน้ำละหมาดจะไม่เพียงแค่ชำระตัวของ เขาให้สะอาดเท่านั้น หากแต่ยังช่วยทำให้เขารู้สึกสดชื่น กระปี้กระเปร่ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม “การอาบน้ำหะดัษใหญ่ (หลังจากการร่วมหลับนอน)” ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทั้งสองต้องกระทำก่อนการละหมาด หรืออ่านอัลกุรอาน หรือก่อนเข้ามัสญิด

อีกทั้ง การอาบน้ำร่วมกันระหว่างสามีและภรรยานั้น ก็เป็นที่อนุมัติให้กระทำได้ และ “การร่วมหลับนอนระหว่างสามีและภรรยานั้น” สามารถกระทำในลักษณะใดก็ได้ตามที่พวกเขาปรารถนา อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นการอนุมัติ (หะรอม) ให้สามีเข้าทางทวารของภรรยา

อีกทั้งมันยังเป็นสิ่งต้องห้ามในการที่สามีจะร่วมหลับนอนกับภรรยาขณะที่ เธอมีรอบเดือน (เฮดฮฺ หรือมะฮิดฮฺ) หากแต่ในช่วงเวลาดังกล่าว สามีและภรรยาสามารถที่จะหอมหรือสัมผัสกันได้ หากแต่เธอต้องปกปิดบริเวณช่วงต้นขาของเธอ เพื่อที่บริเวณนั้นจะไม่ไปสัมผัสตัวของสามีเธอ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ท่านกระทำได้ทุกสิ่งอย่าง เว้นแต่การสอดใส่” (มุสลิม และอบู ดาวูด)

ข้อความข้างต้นนั้นยังรวมไปถึงการห้ามไม่ให้มีความสัมพันธ์ดังกล่าวใน ช่วง 40 วันแรกหลังจากการคลอดบุตร หรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล (ซึ่งอาจจะเร็วกว่า 40 วันก็เป็นได้) อีกด้วย อาจกล่าวได้ว่า “การร่วมหลับนอนระหว่างสามีภรรยา” สามารถกระทำได้เมื่อภรรยานั้นสะอาด และได้ทำการอาบน้ำหรืออาบน้ำละหมาดเรียบร้อยแล้ว

สามีภรรยาจำต้องละเว้นการร่วมหลับนอนกันตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งพลบค่ำ ในช่วงเดือนรอมา ฎอนขณะที่พวกเขาทำการถือศีลอด หากแต่ว่าพวกเขาอาจจะหอม หรือกอดกันได้ แต่จะต้องไม่กระทำการอื่นใดเกินไปกว่านี้ หากไม่เช่นนั้น การถือศีลอดของเขาจะใช้ไม่ได้ ซึ่งยังรวมไปถึงการถือศีลอดแบบสมัครใจ (สุนนะหฺ) ด้วย และสำหรับผู้ที่ได้รับการอำนวยพรให้ได้ไปทำอุมเราะฮฺที่มักกะฮฺ พวกเขาจำต้องงดเว้นจากการร่วมหลับนอนและการมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในรูป แบบอื่นๆ รวมไปถึงการหอม การกอด และการพูดถึงกันและกันอีกด้วย เช่นที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า "และจงอย่าข้องเกี่ยวกับภรรยาของพวกเจ้าขณะที่พวกเจ้าอยู่ในมัสญิด" (อัลกุรอาน บะเกาะเราะฮฺ 2.187)

ความใกล้ชิดระหว่างสามีและภรรยาควรจะกระทำในที่ที่เป็นส่วนตัว (หรือที่ลับ) การเปิดเผยความลับของสามีและภรรยาต่อผู้อื่นไม่ใช่หลักการของอิสลาม ดังนั้น คู่สมรสจะไม่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องในห้องนอนของเขากับผู้อื่น แต่หากว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพ (ทางการแพทย์) หรือความจำเป็นที่ต้องพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาด้านชีวิตคู่ ซึ่งทั้งสามีและภรรยาเต็มใจที่จะเข้ารับคำปรึกษานั้น ก็สามารถกระทำได้

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ตักเตือนให้ บรรดาสามีและบรรดาภรรยา ดูแลเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกให้เป็นที่ดึงดูดใจต่อกันและกัน และให้ความสนใจต่อสิ่งนี้หลังจากแต่งงานแล้ว สามีและภรรยาควรดูแลตัวเอง ให้ดูดีและสะอาดอยู่เสมอ เพื่อที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองให้เกิดขึ้นระหว่างกัน และแท้จริง อิสลามนั้นสนับสนุนเรื่องของ “ความสวยงาม"

ข้อที่สี่ :: ครอบครัวและเพื่อนฝูง

ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้เราแสดงออกซึ่งความเมตตา ความเคารพ การให้เกียรติต่อครอบครัวของสามี/ภรรยา การที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณกับคนในครอบครัวของคู่สมรสนั้น ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่ข้ามวัน มันจำต้องมี "ความสม่ำเสมอ" "ความติดต่อสื่อสารที่ดี" "การเปิดใจ" และ “ความเต็มใจที่จะยอมรับความแตกต่าง” เป็นองค์ประกอบ

การยอมรับ “ครอบครัวของคู่สมรส” และการแสดงไมตรีจิตที่ดีต่อพวกเขาย่อมช่วยสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคงในความสัมพันธ์ของคุณและคู่สมรสให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้การดำเนินชีวิตคู่เกิดความราบรื่น สะดวกง่ายดายอีกด้วย

ตามหลักการอิสลามในเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น เราจำต้องหลีกเลี่ยงการประชดประชัน เสียดสี เหน็บแนม การให้ร้าย และการเรียกกันด้วยชื่อหรือฉายาที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เราควรพยายามที่จะให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมือนคนในครอบครัว เราควรตระหนักว่า คนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจงอย่า "เปรียบเทียบ" สามี/ภรรยาของคุณกับคนในครอบครัวของคุณ และอย่า "เปรียบเทียบ" พ่อแม่ของสามี/ภรรยา กับพ่อแม่ของคุณ เพราะการกระทำเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งและความบาดหมางระหว่างกัน

"เพื่อน" การมีเพื่อน เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคู่สมรส และมันย่อมเป็นการดีในการที่จะจัดสรรเวลาเพื่อการพบปะเพื่อนฝูงบ้าง โดยที่ทั้งสามีและภรรยาสามารถที่จะใช้เวลานั้นอยู่กับเพื่อนของพวกเขาแบบ ส่วนตัวได้

อีกทั้งคู่สมรสควรพยายามที่จะทำให้ “คนในครอบครัว” เป็นเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งของพวกเขา และพยายามสร้างมิตรภาพกับคู่สมรสคู่อื่น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ เพื่อเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคู่ครองของคุณมีความมั่นคง ลึกซึ้งและยาวนาน

การมีบทบาทในชุมชนอิสลาม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทั้งสามีและภรรยาสามารถทำร่วมกันได้ และสิ่งนี้ย่อมยกระดับความรับผิดชอบของคุณต่ออัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮู วะตะอะลา) ให้สูงขึ้น อีกทั้งมันยังเป็นวิธีการที่ดีในการที่จะสร้างมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ด้วย คุณควรเชิญชวนเพื่อน และครอบครัวของสามี/ภรรยา ให้ไปร่วมรับประทานอาหารที่บ้าน และทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้มีความเข้มแข็งมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ข้อที่ 5 ความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ

ด้วยเพราะ “อิสลาม” คือวิถีแห่งชีวิต และมันคือ “ส่วนสำคัญ” ต่อความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ คนทั้งสองผูกพันเชื่อมโยงกันด้วยเพราะ “ความศรัทธาและความปรารถนาที่จะสร้างความพึงพอพระทัยต่ออัลลอฮฺ” ที่เหมือนกัน และเขาต่างต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาปรับปรุงความศรัทธา จิตใจ คุณธรรมของคู่ครองของเขาให้ดีขึ้น รวมไปถึงให้การส่งเสริมสนับสนุนกันและกันให้เชื่อฟังอัลลอฮฺ หรือใช้เวลาในการละหมาดร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับอัลลอฮฺนั้นเข้มแข็งมากยิ่ง ขึ้น และในทางกลับกัน คุณก็ต้องแน่ใจว่าความสัมพันธ์ของชีวิตสมรสของคุณนั้นก็มั่นคงเข้มแข็งด้วย เช่นกัน

แหล่งที่มาบทความ http://www.singlemuslim.com/marriage_articals/marriage_etiquette.php

0 ความคิดเห็น: