เมื่อผู้เป็นภรรยาพูดคุยกับสามี เธอควรตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้
1. เธอควรรับฟังสิ่งที่สามีพูดด้วยความตั้งใจ โดย ไม่พูดแทรกขณะที่เขากำลังพูดอยู่ เมื่อเขาพูดเสร็จแล้ว หากเธอไม่เข้าใจสิ่งใด ก็ขอให้เขาอธิบาย ชี้แจงในจุดนั้น เธอควรนิ่งเงียบขณะเขาพูดอยู่ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว “ความสงสัยที่เธอมี” มักจะได้รับการชี้แจงในบทสนทนาของเขาเสมอ อีกทั้งการพูดแทรกระหว่างที่เขาพูดอยู่นั้น อาจทำให้เขาลืมพูดประเด็นสำคัญ หรือพูดแต่เรื่องที่ไม่สำคัญแทน หากภรรยาต้องการให้สามีของเธอทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แก่เธอ เธอควรบอกเขาด้วยดีโดยไม่กล่าวอ้าง (หรือเปรียบเทียบ) ถึงสิ่งที่ผู้ชายคนอื่นทำ
ตัวอย่างเช่น แทนที่จะกล่าวว่า ทำไมคุณไม่พาพวกเราออกไปเที่ยวข้างนอกสักสัปดาห์ละครั้ง เหมือนที่สามีของพี่สาวฉันทำบ้างหละ” หากแต่เธอควรพูดว่า “เราจะดีใจมากเลยนะคะ หากคุณสามารถพาเราออกไปเที่ยวข้างนอกสัปดาห์ละครั้งได้”
2. เมื่อเธอกล่าวถึงสามีของเธอ ขณะที่เธอสนทนากับผู้อื่น เธอไม่ควรใช้สรรพนามแทนสามีว่า “เขา” แต่ เธอควรกล่าวแทนตัวสามีของเธอว่า “สามีของฉัน” หรือ อาจจะกล่าว “ชื่อของเขา” ที่คนส่วนใหญ่ใช้เรียกหรือรู้จักกันดี หรือเธออาจจะพูดแทนตัวของสามีว่า “พ่อของมุหัมมัด” “พ่อของซาบีรอฮฺ” เป็นต้น
3. ผู้เป็นภรรยาควรพูดจากับสามีด้วยถ้อยคำและน้ำเสียงที่อ่อนโยนเสมอ เธอไม่ควรปล่อยให้ “ความโกรธ” ทำให้เธอขึ้นเสียงขณะที่พูดคุยกับเขา
4. เธอควรหลีกเลี่ยงการถามคำถาม (ซักไซร้) ด้วยคำพูด เช่น ว่า “ทำไมหละ?” “อะไรอีกหละ?” “เมื่อไหร่?” “เพื่ออะไร?” เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เธอไม่ควรถามคำถามเขาอย่างไม่ให้เกียรติโดยการพูดว่า “ทำไมถึงกลับบ้านดึก!?” หรือ “ทำไมถึงตีลูกเหมือนลูกเป็นสัตว์!?” หรือ “คุณทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร!?” หรือ “ทำไมคุณไม่เคยบอกเราเลยว่าคุณไปไหน?” แทนที่เธอจะตั้งคำถามกับสามีเช่นนั้น เธอควรปรับเปลี่ยนคำถามด้วยการใช้ถ้อยคำที่ดีและด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน เพื่อทำให้หัวใจของสามีอ่อนโยนลง และเขาย่อมเต็มใจที่จะตอบคำถามทั้งหลายของเธอด้วยดี และเธอก็จะได้รับคำตอบที่เธอต้องการโดยที่ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดใดๆ ให้แก่สามีของเธอ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะใช้คำถามที่ว่า “ทำไมคุณถึงกลับบ้านดึก” เธอควรพูดว่า “พวกเรารอให้คุณกลับมานานมากเลยนะคะ ฉันนอนไม่ได้เลยจนกระทั่งคุณกลับมา อีกทั้งฉันกับลูกๆ ก็ทานอะไรไม่ลง ถ้าไม่มีคุณอยู่ด้วย” เช่นเดียวกัน แทนที่เธอจะพูดว่า “ทำไมคุณถึงตีลูกๆ เหมือนลูกเป็นสัตว์” เธอควรกล่าวว่า “เมื่อคืนนี้ คุณตีอะหมัดที่หูแรงมากเลยนะคะ บางครั้งเด็กๆ ก็สูญเสียการได้ยิน เวลาที่พวกเขาถูกทำร้ายอย่างรุนแรง เราไม่ควรสร้างความโกรธเคืองต่ออัลลอฮฺเลยนะคะ” หรือเธออาจจะพูดว่า “เวลาที่ลูกๆ ถูกตี พวกเขาก็จะมองเราเหมือนกับว่าเราเป็นพ่อแม่ที่เผด็จการ แล้วพวกเขาอาจจะมีความคิดที่ว่าพ่อแม่ตีพวกเขาเพียงเพื่อระบายความโกรธและ ไม่มีความรู้สึกเมตตาต่อพวกเขา พวกเขาอาจคิดด้วยว่าพวกเขาจะต้องถูกตี ไม่ว่าพวกเขาจะทำผิดหรือถูกก็ตาม และเด็กๆ ก็จะกลายเป็นเด็กที่ดื้อ หัวรั้น และไม่เชื่อฟัง เราควรมีความอดทนเวลาที่ลูกๆ เกเรไปบ้างนะคะ และการที่เรามีความอดทน เราย่อมได้รับรางวัลการตอบแทนจากอัลลอฮฺ สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากที่สุด แทนที่เราจะตีพวกเขา เราควรที่จะปรับปรุงพฤติกรรมของพวกเขาด้วยวิธีอื่น และไม่นานพวกเขาย่อมตระหนักถึงความผิดพลาดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกเขา ให้ดีขึ้นนะคะ”
และเช่นเดียวกัน แทนที่ผู้เป็นภรรยาจะต่อว่าสามีที่เขากลับบ้านดึก เธอควรกล่าวว่า “ฉันคงจะสบายใจมากกว่านี้นะคะ หากคุณบอกฉันไว้ก่อนล่วงหน้าว่าคุณจะกลับมาถึงบ้านเมื่อไหร่ ฉันจะได้เตรียมตัว และเตรียมอาหารให้พร้อมเมื่อคุณกลับมาถึงบ้าน” แทนที่เธอจะตะคอกหรืออาละวาดใส่สามีด้วยสาเหตุที่เธอไม่ทราบว่าเขาไปที่ไหน อยู่ที่ไหน เธอควรแสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นห่วงเป็นใยต่อความปลอดภัยของเขา และบอกเขาให้ทราบว่าเธอจะรู้สึกสบายใจหากเขาบอกให้เธอทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน ในทางตรงกันข้ามนั้น “การซักไซ้ถามสามี” ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังขึ้นภายในครอบครัวอีกด้วย “การตั้งคำถามด้วยสติ (ปัญญา) และความรักของภรรยา” ย่อมสามารถเอาชนะความรักและการให้เกียรติของผู้เป็นสามีได้ อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด “การเข้าหา (หรือการแก้ปัญหา) ที่ผิดวิธี” ย่อมทำให้ปัญหาที่มีอยู่นั้นเลวร้ายยิ่งขึ้น และหากผู้เป็นสามีไม่ใช่คนที่มีเหตุผล หรือไม่ใช่ผู้ที่ไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลแล้ว เขาอาจจะกระทำในสิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยที่เขาอาจจะเริ่มกลับบ้านดึกมากกว่าเดิม หรือทุบตี ทำร้ายลูกๆ รุนแรงมากขึ้น เมื่อผู้เป็นภรรยาถามคำถามต่อสามีอย่างมีสติมากขึ้น จิตใจของสามีย่อมอ่อนโยนและเขาย่อมเสียใจต่อสิ่งที่เขาทำ และเขาจะระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดเดิมซ้ำอีก และเขาย่อมรู้สึกปลาบปลื้มภูมิใจในความเฉลียวฉลาดและศิลปะในการพูดของภรรยา ของเขา
-- รออ่านตอนต่อไปนะคะ อินชาอัลลอฮฺ ---
แหล่งที่มา จากหนังสือ A Gift for Muslim Bride โดยมุหัมมัด ฮะนีฟ อับดุล มะญีด หน้าที่ 249 – 251
0 ความคิดเห็น: