ข้อดีของการตั้งครรภ์สองครั้งในเวลาใกล้กัน



สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกคือ ถ้าการตั้งท้องครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นเร็วไปสักหน่อย ทำให้คุณไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นยินดีเหมือนครั้งแรก ก็อย่าเพิ่งรู้สึกผิดกับตัวเอง การมีทารกคนหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณ ดังนั้นการต้องวางแผนครั้งใหม่ในเวลาใกล้ๆ กันจึงอาจทำให้คุณอดคิดไม่ได้ว่า "โอ๊ย! ไม่นะ"
อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ติดๆกันก็มีข้อดีหลายอย่าง คุณแม่หลายคนพบว่า ท้องครั้งที่สองมักง่ายกว่าครั้งแรก เพราะคุณอาจจะมีข้าวของเครื่องใช้สำหรับทารกพร้อมหมดแล้ว และคุณไม่กังวลกับวิธี การให้นม การเปลี่ยนผ้าอ้อม และ การดูแลทารกแรกเกิด การตั้งครรภ์สองครั้งในเวลาใกล้ๆ กันช่วยให้คุณวางแผนกลับมาทำงานได้ง่ายขึ้น คุณสามารถหยุดพักงานเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งสอง และก็กลับมาทำงานใหม่ได้ในเวลาที่เหมาะสม

อย่าลืมดูแลตัวเอง
ในฐานะคนเป็นแม่ คุณคงทราบดีว่าในช่วงนี้ คุณไม่มีเวลาทำอะไรมากนัก บางครั้งคุณอาจจะไม่สามารถทำอาหารในครัวเป็นชั่วโมงเหมือนก่อน แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องทานอาหารให้ครบทุกมื้อและ ทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่ด้วย โดยอาจเตรียมอาหารง่ายๆ ผลไม้ และผักสด ที่มีสารอาหารครบถ้วน
การมีลูกที่ต้องดูแลมักทำให้คุณแม่มักหลงลืมคำแนะนำด้านสุขภาพที่เคยปฏิบัติตามอย่างดีในช่วงแรกๆ ไป แต่อย่าลืมว่าหากกำลังตั้งครรภ์ คุณต้องให้เวลาเรื่องการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเล่นในสวนสาธารณะพร้อมกับเข็นรถพาลูกน้อยไปด้วย หรือให้ทารกนั่งอยู่ในเก้าอี้ที่ปลอดภัยขณะที่คุณใช้เวลา ออกกำลังกายในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ คุณจำเป็นต้องผ่อนคลายและพักผ่อนบ้าง และเลือกทำงานบ้านเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

การตรวจอัลตราซาวนด์คืออะไร
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ที่สำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ได้กำหนดไว้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ การตรวจอัลตร้าซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 12 เพื่อคำนวณวันครบกำหนดคลอด ( Dating scan) และการตรวจอัลตร้าซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 20 เพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ( Anomaly scan) สถานพยาบาลบางแห่งอาจตรวจอัลตร้าซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 20 เพียงอย่างเดียวเป็นมาตรฐาน ในขณะที่สถานพยาบาลบางแห่งจะตรวจอัลตร้าซาวนด์ทั้ง 2 ชนิด
การตรวจครรภ์ส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นการตรวจครรภ์โดยใช้คลื่นอัลตร้าซาวนด์ โดยแพทย์จะทาเจลลงบนท้องของคุณ จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใช้มือจับซึ่งเรียกว่าทรานส์ดิวเซอร์ ( Transducer) เคลื่อนไปบนผิวหน้าท้องของคุณ ซึ่งจะส่งภาพของลูกน้อยในครรภ์ไปที่จอภาพ การตรวจอัลตร้าซาวนด์ในบางครั้ง แพทย์อาจขอให้คุณกลั้นปัสสาวะเอาไว้เพื่อให้มีน้ำเต็มกระเพาะปัสสาวะ เพื่อจะช่วยดันมดลูกไปข้างหน้าทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น
ประเภทของการตรวจอัลตร้าซาวนด์:
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ในระยะแรกเริ่ม
หากคุณมีอาการปวดหรือมีเลือดออก เคยแท้งบุตรมาก่อนหน้านี้หรือเคยตั้งครรภ์นอกมดลูก ( Ectopic pregnancy) คุณอาจจะต้องรับการตรวจอัลตร้าซาวนด์ตั้งแต่เนิ่นๆ ในช่วงที่ตั้งครรภ์ได้ 6 - 10 สัปดาห์ เพราะในช่วงนี้ ลูกน้อยในครรภ์ยังมีขนาดเล็กมาก ดังนั้น เพื่อให้ได้ภาพที่ละเอียดชัดเจนมากที่สุด การตรวจครรภ์ในช่วงนี้ แพทย์จะใช้หัวอัลตร้าซาวนด์ขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอดของคุณ
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ชนิดนี้ มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่เป็นธรรมดาที่คุณอาจจะรู้สึกกังวลบ้างเล็กน้อย เพราะฉะนั้นขอให้ปรึกษากับพยาบาลผดุงครรภ์หรือสูติแพทย์ของคุณ ซึ่งทั้งสองท่านนี้จะช่วยตอบคำถามต่างๆ ของคุณได้ และขอให้จำไว้ว่าการตรวจนี้จะช่วยตรวจสอบว่าลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์ดี เพื่อคลายความวิตกกังวลระหว่างการตั้งครรภ์ลงให้มากที่สุด

การตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อคำนวณวันคลอด
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ในช่วง 6 - 12 สัปดาห์ เป็นการตรวจมาตรฐานในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ การตรวจนี้จะช่วยให้คุณทราบวันครบกำหนดคลอดที่แน่นอน อีกทั้งยังช่วยทำให้ทราบรายละเอียดที่สำคัญหลายๆ ด้านอีกด้วย เช่น อายุของลูกน้อยในครรภ์ จำนวนลูกน้อยในครรภ์ การเต้นของหัวใจ ตรวจดูว่ามีสิ่งผิดปกติใดๆ ที่เห็นได้ชัดหรือไม่ ตรวจดูว่ารังไข่อยู่ในสภาพปกติดีหรือไม่
การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที โดยระหว่างนั้นภาพของลูกน้อยในครรภ์จะถูกถ่ายเก็บไว้ การได้เห็นลูกน้อยในครรภ์บนหน้าจอเป็นประสบการณ์อันน่าตื่นเต้น และคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกตื้นตันใจ คุณจะได้รับภาพถ่ายของลูกน้อยกลับบ้าน ( โรงพยาบาลบางแห่งอาจคิดค่าบริการสำหรับภาพถ่าย ) ซึ่งคุณสามารถนำไปอวดคนที่คุณรักเพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นนี้ได้ด้วย
การตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก ( Nuchal translucency scan;NT)
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ชนิดนี้ เป็นการตรวจที่ไม่ลุกล้ำเข้าไปในร่างกาย ( non-invasive) และไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ โดยปกติจะเริ่มตรวจเมื่อตั้งครรภ์ได้ 11 ถึง 14 สัปดาห์ แต่โรงพยาบาลบางแห่งไม่เสนอการตรวจครรภ์ชนิดนี้ หากโรงพยาบาลของคุณไม่เสนอการตรวจครรภ์ชนิดนี้ คุณสามารถขอรับบริการตรวจครรภ์ชนิดนี้ด้วยตัวเอง การตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก เป็นการประเมินโอกาสเสี่ยงของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ( Down’s Syndrome) หรือความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ ของทารกในครรภ์ โดยจะประเมินจากอายุของว่าที่คุณแม่ ความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอของทารก กระดูกสันจมูกของทารกและผลการตรวจเลือด หากผลการตรวจชี้ว่าอาจมีโอกาสเสี่ยงสูง คุณอาจต้องรับการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจน้ำคร่ำ ( amniocentesis test) เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด ว่าที่คุณแม่และว่าที่คุณพ่อสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจชนิดนี้กับพยาบาลผดุงครรภ์หรือสูติแพทย์ได้

การตรวจครรภ์กลางไตรมาสที่สอง (ช่วง 4-6 เดือน)
หากเป็นไปได้ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจครรภ์กลางไตรมาสที่สอง (ช่วงครรภ์ 4 - 6 เดือน) ซึ่งการตรวจในระยะนี้ คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่คุณแม่ยังจะได้เห็นรูปร่างหน้าตาของลูกน้อยที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย และคุณยังได้ทราบด้วยว่าลูกน้อยในครรภ์ของคุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ถ้าหากว่าคุณต้องการทราบเพศของลูกน้อยเมื่อตอนคลอดเพื่อความตื่นเต้น แพทย์ก็จะยังไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้คุณทราบ การตรวจนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที และโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะจำหน่ายรูปถ่ายจากการตรวจอัลตร้าซาวนด์ให้คุณ ถ้าคุณต้องการ
โดยปกติ การตรวจนี้จะทำในช่วงสัปดาห์ที่ 18 - 21 ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจความสมบูรณ์ของลูกน้อยในครรภ์ทั่วทั้งร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจดูอวัยวะส่วนต่างๆ ต่อไปนี้
ศีรษะของเด็กเพื่อหาความผิดปกติของสมองหรือปากแหว่งเพดานโหว่
กระดูกสันหลังและท้องเพื่อดูว่าอวัยวะเหล่านี้จัดเรียงอยู่ในแนวเดียวกันและมีพัฒนาการที่เหมาะสมหรือไม่
ขนาดและรูปร่างของหัวใจของทารก
ท้อง ซึ่งควรอยู่ถัดจากหัวใจลงไป คุณอาจจะเห็นน้ำคร่ำบางส่วนที่ลูกน้อยของคุณกลืนเข้าไป ซึ่งจะดูคล้ายกับฟองอากาศสีดำในท้องของลูกน้อย
ไตและกระเพาะปัสสาวะของทารก
มือและเท้าทั้งสองข้างของทารก ถึงแม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจจะไม่ถึงกับนับนิ้วมือนิ้วเท้าเด็กก็ตาม
รก สายสะดือและน้ำคร่ำ
วัดขนาดรอบศีรษะของทารก ท้องและกระดูกต้นขาเพื่อให้แน่ใจว่าอวัยวะต่างๆ เหล่านี้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์เท่าเทียมกัน
หากมีสัญญาณของความผิดปกติใดๆ ขอให้คุณปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจครรภ์ชนิดอื่นๆ ต่อไป
การตรวจพัฒนาการของทารก
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ชนิดนี้ เป็นการตรวจเพื่อดูว่าลูกน้อยในครรภ์ของคุณกำลังเติบโตและมีพัฒนาการที่แข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว แพทย์จะใช้วิธีการตรวจชนิดนี้ในกรณีที่มีความกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของลูกน้อย

การตรวจชนิดต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณและลูกน้อย
สิ่งสำคัญที่สุดที่พึงจำไว้ก็คือ ประมาณ 9 ใน 10 ของการตั้งครรภ์และการคลอดสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี การตรวจชนิดต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์มีไว้เพื่อช่วยทำให้แน่ใจว่าความผิดปกติต่างๆ เท่านั้น หากมีสิ่งผิดปกติใดๆ จะได้ถูกตรวจพบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาคุณและลูกน้อยในครรภ์อย่างดีที่สุดระหว่างตั้งครรภ์ การตรวจบางอย่าง อาจฟังดูค่อนข้างซับซ้อน แต่นั่นเป็นการตรวจตามมาตรฐานสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน
การตรวจน้ำคร่ำ
โดยปกติ การตรวจน้ำคร่ำจะทำในช่วงสัปดาห์ที่ 15-18 ของการตั้งครรภ์ การตรวจวินิจฉัยวิธีนี้เป็นการตรวจเพื่อดูว่าลูกน้อยของคุณมีกลุ่มอาการดาวน์หรือความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ หรือไม่ คุณมีแนวโน้มที่จะต้องเข้ารับการตรวจน้ำคร่ำ หากคุณมีอายุเกินกว่า 35 ปี เคยคลอดลูกที่มีความผิดปกติบางอย่าง หรือเครือญาติของคุณหรือสามีมีประวัติของความผิดปกติทางพันธุกรรม
นอกจากนี้ หากผลการตรวจเลือดหรือการตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก ชี้ว่ามีโอกาสเสี่ยงสูง คุณอาจต้องรับการตรวจน้ำคร่ำด้วยเช่นกัน ก่อนเริ่มทำการตรวจน้ำคร่ำ แพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูตำแหน่งของเด็กและรก และเพื่อคำนวณวันครบกำหนดที่แน่นอน จากนั้น แพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังทั่วทั้งครรภ์และแทงเข็มขนาดเล็กเข้าไปในครรภ์ของคุณ จากนั้นแพทย์จะใช้กระบอกฉีดยาดูดตัวอย่างน้ำคร่ำรอบๆตัวทารกขึ้นมาเพื่อนำไปตรวจ ในระหว่างที่ทำการเจาะเพื่อดูดน้ำคร่ำ แพทย์จะคอยดูตำแหน่งของทารกและเข็มอย่างระมัดระวังผ่านเครื่องอัลตร้าซาวนด์
คุณแม่ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกอัดอัดมากกว่าเจ็บและรู้สึกปวดเหมือนปวดประจำเดือน การเจาะน้ำคร่ำจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที และคาดว่าจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์
เป็นความคิดที่ดีที่คุณจะหาเวลาพักผ่อนสักสองสามวันหลังจากที่เข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ และเตรียมหาคนช่วยดูแลลูกๆ ไว้ให้พร้อมในระหว่างนี้ ถ้าหากคุณมีลูกแล้ว
โดยปกติ การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย และคุณแม่ส่วนใหญ่เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการตรวจนี้ (ซึ่งสามารถวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกน้อยในครรภ์) มีมากกว่าอันตรายที่อาจเกิดจากผลแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงอยู่บ้างเช่นกัน โดยพบว่าหญิงมีครรภ์ที่ได้รับการเจาะน้ำคร่ำ 1 ใน 200 ราย จะมีผลแทรกซ้อนหลังจากเจาะน้ำคร่ำซึ่งอาจส่งผลให้แท้งบุตรได้ ดังนั้น ควรพูดคุยกับพยาบาลผดุงครรภ์หรือสูติแพทย์ของคุณให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะลงชื่อในหนังสือแสดงความยินยอม

การตรวจชิ้นเนื้อรก ( Chorionic villus sampling; CVS)
การตรวจชิ้นเนื้อรกเป็นวิธีการตรวจที่มักจะทำในช่วงไตรมาสแรก (ช่วงครรภ์ 1-3 เดือน) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ใช้แทนการตรวจน้ำคร่ำ ข้อแตกต่างที่สำคัญของการตรวจชิ้นเนื้อรกก็คือ การตรวจวิธีนี้ไม่สามารถตรวจพบภาวะเยื่อหุ้มไขสันหลังปิดไม่สนิทที่เรียกว่า Spina Bifida ได้ โดยปกติ หญิงมีครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและมีประวัติของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือเคยคลอดลูกที่มีความผิดปกติบางอย่าง ควรจะต้องตรวจชิ้นเนื้อรก ซึ่ง การตรวจจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง และเจ็บกว่าการเจาะน้ำคร่ำเล็กน้อย ซึ่งแพทย์จะทำการเก็บเซลล์เนื้อเยื่อรกบริเวณรกของคุณเพื่อนำไปตรวจ
ภายหลังการเจาะชิ้นเนื้อรกเสร็จแล้ว คุณจะต้องพักผ่อนเป็นเวลา 2 -3 วันการเจาะชิ้นเนื้อรก ( CVS) มีโอกาสเสี่ยงเล็กน้อยต่อการแท้งบุตรเช่นเดียวกับการเจาะน้ำคร่ำ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องซักถามข้อสงสัยและข้อวิตกกังวลใจต่างๆ กับสูติแพทย์ของคุณก่อนที่จะรับการตรวจ
การตรวจความทนทานของระดับน้ำตาลในเลือด ( Glucose tolerance tests)
ในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ แพทย์อาจทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจพบได้ประมาณ 2 - 3 คน จากว่าที่คุณแม่ทั้งหมด 100 คน ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์จะมักจะมีอายุมากกว่า 35 ปี เป็นโรคอ้วน และเคยเกิดภาวะนี้ในการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ และยังพบได้บ่อยในว่าที่คุณแม่ที่มีเชื้อสายชาวอินเดีย แอฟโฟร-คาริบเบียน หรือชาวตะวันออกกลาง วิธีการตรวจเลือดง่ายๆ นี้สามารถตรวจได้ว่าคุณมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ว่าที่คุณแม่จำนวนมากสามารถควบคุมภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกาย และอาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลินในบางครั้ง

การตรวจเลือดโดยทั่วไป
ระหว่างตั้งครรภ์ คุณอาจได้รับการตรวจเลือดค่อนข้างบ่อย แต่ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะเป็นการตรวจเลือดทั่วไปสำหรับหญิงมีครรภ์ทุกคน ซึ่งจะตรวจสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
ระดับธาตุเหล็ก: หากระดับของธาตุเหล็กในเลือดต่ำ คุณอาจรู้สึกเหนื่อยง่ายและเซื่องซึม คุณอาจลองเพิ่มเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของผักใบเขียวและเนื้อแดงเพื่อช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ถ้าหากการเปลี่ยนเมนูอาหารยังใช้ไม่ได้ผล คุณอาจต้องรับประทานธาตุเหล็กชนิดเม็ดเพื่อป้องกันเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากระดับธาตุเหล็กอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดช่วงตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณต้องตรวจหาระดับธาตุเหล็กในเลือดซ้ำอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 28
หมู่เลือดและหมู่เลือด Rh: แพทย์จำเป็นต้องทราบหมู่เลือดของคุณเพื่อบันทึกไว้เป็นข้อมูลทางการแพทย์ และยังต้องทราบด้วยว่าเลือดของคุณเป็นหมู่เลือด Rh บวก (RH+) หรือหมู่เลือด Rh ลบ (RH-) เนื่องจากหมู่เลือดทั้งสองชนิดนี้ไม่สามารถเข้ากันได้ หากหมู่เลือดของคุณคือ RH- และลูกน้อยในครรภ์ของคุณมีหมู่เลือด RH+ อาจมีโอกาสเป็นไปได้ที่ร่างกายของคุณจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เป็น RH+ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยของคุณในระยะท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น การทราบหมู่เลือดของคุณล่วงหน้าจะช่วยให้แพทย์สามารถลดโอกาสการเกิดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
หัดเยอรมัน ( German measles หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า rubella) คุณแม่อาจจะเคยได้รับวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันในขณะยังเด็กแต่อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจเลือดชี้ว่าคุณแม่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน คุณต้องหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนที่กำลังเป็นหัดเยอรมัน เพราะว่าหัดเยอรมันอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยของคุณได้
โรคอื่นๆ: แพทย์จะตรวจเลือดของคุณเพื่อหาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซิฟิลิส เนื่องจากโรคสองชนิดนี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ของคุณ นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจหาเชื้อเอชไอวี/เอดส์ด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการตรวจหรือไม่ แต่คุณแม่ก็ ไม่ต้องวิตกกังวลกับการตรวจต่างๆ เหล่านี้ เพราะผลการตรวจทั้งหมดจะถูกปกปิดเป็นความลับและนำไปใช้สำหรับดูแลสุขภาพของลูกน้อยของคุณเท่านั้น
โรคสมองอักเสบจากเชื้อท็อกโซพลาสมา ( Toxoplasmosis): เชื้อท็อกโซพลาสมานี้เป็นปรสิตซึ่งติดมากับอุจจาระแมวและเนื้อที่ปรุงไม่สุก และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ของคุณ การตรวจหาโรคสมองอักเสบจากเชื้อท็อกโซพลาสมาไม่รวมอยู่ในการตรวจทั่วไป แต่คุณสามารถปรึกษากับสูติแพทย์ของคุณได้ หากคุณคิดว่าลูกน้อยของคุณอาจมีโอกาสเสี่ยง

การตรวจปัสสาวะ
แพทย์จะตรวจปัสสาวะของคุณระหว่างตั้งครรภ์เพื่อดู
โปรตีน ในปัสสาวะ โปรตีนในปัสสาวะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการได้รับเชื้อ หรือหากพบโปรตีนในปัสสาวะร่วมกับอาการอื่นๆ อาจบ่งชี้ถึงภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งภาวะครรภ์เป็นพิษนี้อาจเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณได้ หรือสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษได้ที่นี่
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจไม่ทราบว่าติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจปัสสาวะและสามารถรักษาได้โดยง่ายด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ
น้ำตาล ในปัสสาวะอาจบ่งบอกถึงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรืออาจเป็นเพียงเพราะว่าคุณเพิ่งรับประทานอาหารที่หวานจัด หากยังตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะซ้ำกันหลายครั้ง นี่อาจจะเป็นสัญญาณของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ( gestational diabetes) ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับคุณแม่และลูกน้อยได้ แต่สามารถรักษาได้โดยง่ายด้วยการเปลี่ยนแปลงนิสัยในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

0 ความคิดเห็น: