สำนักข่าวอัล-อาราบิญา – นักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดี้ตัดสินใจสร้างมัสยิดในเมืองเหนือสุดของประเทศ แคนาดา ที่ซึ่งมุสลิมใช้กระท่อมไม้เคลื่อนที่หลังเล็กๆ ที่จุคนได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนมุสลิมทั้งหมด เป็นที่ประกอบศาสนกิจมาเป็นเวลานาน และได้ตั้งชื่อมัสยิดไว้ล่วงหน้าแล้ว คือ The Mosque at the End of the World (มัสยิดที่สุดขอบโลก)
ตำแหน่ง ที่ตั้งมัสยิด
ภายใน 10 วันต่อจากนี้ มัสยิดดังกล่าวจะก่อร่างขึ้นในเมือง Inuvik ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแคนาดา ห่างจากขั้วโลกเหนือเพียง 200 กิโลเมตร เมืองนี้มีพลเมือง 3,700 คน เป็นมุสลิม 75 – 80 คน เกือบทั้งหมดมีเชื้อสายอาหรับ
อินูวิค (Inuvik) เป็นภาษาแอสกิโม มีความหมายว่า place of man เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าข้าวของราคาแพงมาก เนื่องจากความที่อยู่ห่างไกล และต้องใช้เวลานานมากในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ -40 องศา
งบ ประมาณดำเนินการ
มีการคำนวณแล้วว่า การจะสร้างมัสยิดสักหลังที่นี่ต้องใช้เงิน ถึง 750,000 ดอลล่าร์ รวมทั้งทีมช่างผู้เชี่ยวชาญซึ่งหาไม่ได้ใน เมืองนี้ จนกระทั่ง ดร.ฮุสเซน ซาอุด กัสตี นักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดี้ ซึ่งบริหารองค์กรการกุศลร่วมกับภรรยาในเมืองมานิโตบา ได้ทราบข่าวคราวความไม่สมหวังของมุสลิมอินูวิค จนทำให้ตัดสินใจที่จะสร้างมัสยิดขึ้นที่นี่
ดร.กัสตี ขอบริจาคเงินจากชาวอาหรับทั่วแคนาดา เงินบริจาคส่วนหนึ่งมาจากวิศวกรชาวอิรัก อะฮฺเหม็ด อัล-คาลาฟ ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองอินูวิค และอีกส่วนหนึ่งจำนวน 190,000 ดอลล่าร์ บริจาคโดยสตรีชาวซาอุดี้ผู้ไม่ประสงค์ให้เปิดเผยนาม
มัสยิดที่ ดร.กัสตีสร้างใช้งบประมาณเพียง 5 แสนดอลล่าร์ ซึ่ง ดร.กัสตี กล่าวว่า เขาชอบชื่อของมัสยิดนี้ ซึ่งมีความหมายในเชิงภูมิศาสตร์ แสดงถึงความเป็นมัสยิดที่อยู่ไกลโพ้น
คาดลงบันทึกกินเนสส์ บุ๊ก
ดร.กัส ตีได้อธิบายถึงความยากลำบากในการสร้างมัสยิดหลังนี้ โดยใช้วิธีที่แพงที่สุด แต่ได้ผลดี คือการสร้างมัสยิดดังกล่าวที่เมืองวินนิเพค ซึ่งเป็นเมืองเอกของมานิโตบา หลังจากนั้นจึงบรรทุกใส่เรือล่องมายังอินูวิค ซึ่งเป็นระยะทางกว่า 4,300 กิโลเมตร โดยใช้เวลา 45 วัน ซึ่งเขากะว่าจะขอบันทึกสถิติโลกลงในกินเนสส์ บุ๊ก ด้วย
วิศวกร คาลาฟ วัย 37 ปี มีส่วนช่วยอย่างมากในการออกแบบ ส่วนดร.กัสตี ซึ่งอยู่ในวัย 43 ปี ช่วยก่อสร้างอีกแรงหนึ่ง โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากสร้างส่วนประกอบต่างๆ เสร็จครบถ้วน มัสยิดขนาด 457 ตารางเมตร รวมทั้งหออะซาน เก้าอี้ ประตู และมิมบัร ถูกขนขึ้นรถบรรทุก ซึ่งวิ่งช้าๆ ผ่านเมืองเอ็ดมอนตั้น ในจังหวัดอัลเบอร์ท่า
ด้วย ระยะทาง 2,900 กิโลเมตร รถบรรทุกใช้เวลาเดินทาง 1 เดือนเต็ม จึงมาถึงแถบ High River บนฝั่งทะเลสาบ Great Slave ที่ซึ่งส่วนต่างๆ ของมัสยิดถูกขนถ่ายลงในเรือ เพื่อเริ่มการเดินทางทางน้ำเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
อัล-คาลาฟกล่าวว่า การขนส่งใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 49,000 ดอลล่าร์ และเมื่อมาถึงอินูวิคแล้ว ต้องใช้เงินในการประกอบ และก่อสร้างส่วนต่างๆ เพิ่มเติมอีกประมาณ 40,000 ดอลล่าร์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการตกแต่งขั้นสุดท้าย ก่อนเปิดให้ใช้นมาซครั้งแรกได้
มัสยิดใหม่นี้ส่องประกายแห่งความหวัง ให้กับมุสลิมในอินูวิค ที่ซึ่งไม่มีแม้แต่สุสานจะใช้ฝังศพ โดยหากมีผู้เสียชีวิต มัยยิตจะถูกนำขึ้นเครื่องบินไปฝังที่สุสานในเมืองเอ็ดมอนตั้น คาลาฟกล่าวว่า ขั้นต่อไปก็คือการวางแผนสร้างสุสาน และศูนย์วัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งจะทำให้ชีวิตมุสลิมที่นี่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
เดือนรอม ฎอนที่ผ่านมา มุสลิมในอินูวิคถือศีล อดนานถึงวันละ 18 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นช่วงที่เวลากลางวันยาวกว่ากลางคืนมาก
มุสลิมใน อินูวิคส่วนมากมาจากประเทศซูดาน และมีบ้างที่มาจากอียิปต์ จอร์แดน เลบานอน และปาเลสไตน์ ซึ่ง 1 ใน 3 มีอาชีพหลักเป็นคนขับรถแท็กซี่ ที่เหลือบางส่วนเปิดร้านขายอาหาร เป็นพ่อค้าร้านของชำ เปิดร้านตัดผม และทำงานบริษัทรักษาความปลอดภัย
ทาล้าล อัล-คอเตบ เป็นชาวอาหรับจากซีเรียที่ย้ายมาอยู่อินูวิคเมื่อ 28 ปีที่แล้ว เขามีอายุมากที่สุด และเชื่อว่ารวยที่สุดในเมืองนี้ด้วย
0 ความคิดเห็น: