ปัจจัย ที่นำไปสู่การแตกร้าวของครอบครัว


นับเป็นการยากที่บุคคล 2 คน ซึ่งต่างจิตต่างใจ ต่างความประพฤติ ต่างความคิด ต่างนิสัย ต่างความเห็น ต่างบ้านต่างเมือง ต่างสภาพต่างสถานที่ ต้องมาอยู่รวมกันเหมือนกับบุคคลคนเดียวกัน แม้ว่าทั้งสองจะรู้ดีว่า ความเข้าอกเข้าใจกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน ความปรองดองรักใคร่กัน จะทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นมีความผาสุก หากสองฝ่ายจะมีความเข้าใจและยอมซึ่งกันและกัน ครอบครัวจะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

แต่เป็นการยากยิ่งที่ชีวิตครอบครัวจะเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดไป โดยเหตุนี้จึงจำเป็นที่คู่สามีภรรยาจะต้องเสริมสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เกิดความสุขสงบภายในครอบครัว ขณะเดียวกัน ก็สมควรที่จะได้รู้ถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่ความแตกร้าวของครอบครัว เช่น

1.) ความไม่สมหวังในความรัก

คู่สมรสบางคนจะนำเอาความรัก ความหลงไหลมาเป็นหลักในการนิกาห์(แต่งงาน)แทนที่จะเข้าใจว่า นิกาห์เป็นอิบาดะฮ์ การนิกาห์ในบางครั้งอาจจะถูกบังคับ ถูกกีดกัน หรือพรากจากคนรักเก่า แล้วตัดใจไม่ได้และไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง (คือ ขณะนี้เขามีภรรยาแล้ว หรือขณะนี้เธอมีสามีแล้ว) จึงเป็นมูลเหตุแห่งความรังเกียจอีกฝ่ายหรือการเข้ากันไม่ได้ ซึ่งบางครั้งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่รู้เรื่องก็ต้องมาเป็นแพะรับ บาปอย่างน่าสงสาร

ข้อเตือนสติในที่นี้คือ เมื่อ ได้มีการแต่งงานกันเรียบร้อยแล้ว สมควรที่คู่สามีภรรยาจะต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง จะต้องทำใจให้ได้เพื่อรับสภาพ แม้ว่าจะไม่สมหวังตามที่หวังไว้ก็ตาม เพราะการไม่ยอมสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัวนอกจากจะก่อให้เกิดความทุกข์ ความอึดอัดใจ ความรุ่มร้อนใจแล้ว ยังนำไปสู่ความแตกแยกของครอบครัว มิใช่จะก่อให้เกิดความเศร้าโศกเฉพาะคู่สามีภรรยาเท่านั้น ยังนำมาซึ่งความอับอายแก่ญาติพี่น้องด้วย จึงขอให้คู่สามีภรรยาได้ไตร่ตรองไว้มากๆ อย่าได้นำเอาความรักมาเป็นเกมการละเล่นจนทำให้ครอบครัวเกิดความร้าวฉาน

2.) ความ ไม่สมหวังทางผลประโยชน์

บางครั้งการแต่งงานเพื่อมุ่งหวังในผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น แต่งงานเนื่องจากความหล่อเหลาของฝ่ายชาย ความสวยงามของฝ่ายหญิง ความร่ำรวยของฝ่ายชาย ความมีฐานะของฝ่ายหญิง ศักดิ์ตระกูลของฝ่ายชาย ชื่อเสียงเกียรติยศของฝ่ายหญิง โดยไม่คำนึงถึงการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักศาสนา จรรยามารยาทของทั้งหญิงและชาย ในเมื่อทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมิได้เป็นไปตามมุ่งหวัง ความสดชื่นก็จะเปลี่ยนไปเป็นความผิดหวัง ความเบื่อหน่าย ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่รู้จักการระงับอารมณ์ ไม่ทำใจยอมรับสภาพ สิ่งที่ตามมาคือ ความรังเกียจซึ่งกันและกัน การดูถูกเหยียดหยาม การก้าวร้าว แน่นอนที่สุดมูลเหตุเหล่านี้จะนำไปสู่ความแตกร้าว

3.) การไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

การไม่ให้ความเคารพ ไม่รักษาสิทธิซึ่งกันและกัน การละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างครอบครัว ถ้าหากว่าขาดการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และการไม่สนใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ย่อมไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและมีความอบอุ่น การขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท และการแตกแยกย่อมจะเกิดขึ้น

4.) ความเป็นห่วงเครือญาติ

บางครั้งฝ่ายชายยังมีความผูกพันกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ให้ความสำคัญ ความสนใจ และความเป็นห่วงเขาเหล่านั้นมากกว่าการให้ความรักความสนใจ ความเป็นห่วงภรรยา และลูกๆ หรือฝ่ายหญิงมีความผูกพันกับพ่อแม่ วงศ์ญาติโดยให้ความสนใจ มีความห่วงใยเขาเหล่านั้นมากกว่าการให้ความรัก ความเอาใจใส่ ให้ความสำคัญต่อสามีและลูกๆ สิ่งที่ต้องยอมรับคือ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง สามี ภรรยา ลูกๆ ย่อมมีสิทธิที่จะต้องได้รับจากเรา ถ้าหากว่าเรามอบแต่ละสิ่งดังกล่าว ให้แต่ละคนตามสิทธิที่เขาพึงได้ โดยปราศจากความลำเอียง หรือความมีอคติแล้ว ความไม่เข้าใจกันก็จะไม่เกิดขึ้น

5.) ความเป็นห่วงของเครือญาติ

พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องของฝ่ายชายบางคน มีความรักความเป็นห่วงลูกชายจนเกินขอบเขต หรือพ่อแม่ญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงบางคน มีความรักลูกสาวจนเกินขอบเขต โดยคิดว่าเขาทั้งสองยังเป็นเด็กไร้เดียงสาต้องขึ้นมาชี้แนะ หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในครอบครัวของลูกชายและลูกสาวตลอดเวลา แม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ตาม

ความจริงแล้วสิ่งที่คู่บ่าวสาวต้อง ตระหนักในทันทีที่ได้ทำการแต่งงาน คือ เขาทั้งสองได้บรรลุสู่วัยผู้ใหญ่ จะต้องวางตัว ปฏิบัติตนมีความคิดความอ่าน ต้องพูดจาเป็นหลักเป็นฐาน ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร จะทำตัวเป็นคนไม่มีความคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ทำตัวสบายๆไม่รู้ไม่ชี้ ไปไหนมาไหนแบบอิสระ ไม่มีพันธะ ไม่ได้ การเป็นห่วงของพ่อแม่ ญาติพี่น้องจนเกินขอบเขต เข้ามาเป็นผู้จัดการของลูกสาวหรือลูกชายที่มีครอบครัวแล้ว โดยคิดว่านั่นเป็นความปราถนาดี บางทีนั่นอาจเป็นกลายทำลายครอบครัวของลูกก็ได้

6.) การเกรงใจผู้อื่นจนเกินขอบเขต

การเกรงใจเพื่อน เพื่อนบ้าน ญาติ ผู้ร่วมงาน และในวงสังคม จนทำให้ละเลยหน้าที่ภายในครอบครัว บางคร้งสามีหรือภรรยา จำต้องปลอบใจตัวเองว่า ในเมื่อมีสามีหรือภรรยาเช่นนี้ จำต้องทำใจ บางครั้งต้องนึกถึงคำว่า "ต้องจำใจรับสภาพ"

7.) ความทะเยอทะยาน ความละโมบ

ภรรยาบางคน เมื่อแต่งงานกับผู้มีตำแหน่งฐานะ ก็ใฝ่ฝันว่าจะได้เป็นคุณหญิงคุณนาย มีคฤหาสน์ใหญ่โต หรือสามีบางคนเมื่อได้แต่งงานกับผู้ที่มีความร่ำรวยก็ใฝ่ฝันว่าจะมีรถเก๋ง ยี่ห้อดี หรือเป็นที่นับหน้าถือตาจากบุคคลอื่น เพราะก่อนแต่งงานได้ตั้งความหวังไว้สูง ในเมื่อไม่ได้รับตามที่ตั้งใจไว้ คู่สามีภรรยาอาจแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ อาจจะออกมาในรูปของการใช้จริตมารยา ออดอ้อนหรือการบีบบังคับให้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ บางครั้งสามีภรรยาต้องกระทำผิดจรรยาบรรณหรือผิดศีลธรรม หรือกระทำทุจริต เมื่อฝ่ายที่ถูกบังคับหมดความอดทนก็จะเกิดระเบิดขึ้นในที่สุด

8.) การทำตัวเป็นผู้จัดการ

สามีภรรยา ได้ทำตัวเป็นผู้จัดการของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยทำหน้าที่วางแผน แนะนำและอาจจะทำตัวคล้ายกับเป็นผู้บัญชา สามีหรือภรรยาเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงในทุกเรื่องจนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความ รำคาญ เบื่อหน่ายและเหินห่างกันในที่สุด โดยเหตุนี้สามีและภรรยาจงอย่าได้เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของ อีกฝ่ายหนึ่ง

9.) การมีจิตวิปริต

สามีหรือภรรยาเป็นโรคจิตวิปริต เช่น ชอบที่จะร่วมกับเพศเดียวกัน หรือต้องใช้ความรุนแรงก่อนที่จะร่วมหลับนอนกับภรรยา ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงได้บัญญัติให้ทั้งสองฝ่ายได้เปิด เผยข้อบกพร่องของตนให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบก่อนที่จะทำการแต่งงาน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาก่อนที่จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว

10.) การเอาแต่ใจตัวเอง

บางคนไม่ยอมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ เช่น เมื่อมีคู่ครองแล้วแต่ยังทำตัวเหมือนเป็นโสด หรือมีการกระทำตามใจตนเองโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง มูลเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก คือการเอาแต่ใจตัวเอง

11.) มือที่สาม

ครอบครัวบางครอบครัวซึ่งเคยเป็นครอบครัวที่มีความสุข ความอบอุ่น ความสมัครสมาน แต่ต่อมาได้เกิดความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาทกันความไม่เข้าใจกัน สืบเนื่องมาจากบุคคลภายนอกที่ยุยง การใส่ร้ายป้ายสี การติฉินนินทา การว่าร้ายต่างๆนานา จนในที่สุดคนที่เคยรักกัน มีความเข้าใจกันเกิดการเกลียดชังกัน

ด้วยเหตุนี้ คู่สามีภรรยาควรจะมีใจ หนักแน่น อย่าหวั่นไหวต่อข่าวลือ ควรจะได้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบก่อนที่จะเชื่อในข่าวใด หรือคำพูดใดๆที่เกี่ยวกับความไม่ดี หรือข้อบกพร่องของสามีหรือภรยา เพราะ น้อยคนนักที่จะมีความดีเพียบพร้อมสมบูรณ์ปราศจากข้อบกพร่อง ดังนั้นจงอย่ามีใจอคติโดยมองสามี หรือภรรยาในแง่ร้าย เพียงแต่เขาหรือนางมีจุดบกพร่องบางอย่าง แต่จงมองดูความดีของเขาหรือนางเป็นสิ่งทดแทน

อัล ลอฮ์ ตรัสว่า

"ดัง นั้น ถ้าหากว่าเจ้าทั้งหลายรังเกียจนาง มาตรว่าเจ้ารังเกียจในสิ่งใด อัลลอฮ์จะทรงทำให้ในนั้นมีความดีอย่างมากมาย"(อันนิซาอ์ - 19)

คู่มือ มุอัลลัฟ

ชมรมผู้บริหารมัสยิดเขตหนองจอก



0 ความคิดเห็น: