แผ่นดินสีเปลี่ยน ตอนที่ 1

แผ่นดินสีเปลี่ยน

ที่มา : อะมะตุ้ลญะลิ้ล


ภายใต้กระแสสังคมบริโภคนิยมที่ครอบงำกระบวนการความคิด การใช้ชีวิตของมวลชนทุกหย่อมหญ้าอย่างปราศจากกำลังต้านทาน การพัฒนาตามระบอบทุนนิยมที่ขับกล่อมมวลชนให้ยินยอมอ้าแขนตอบรับการกว้านกลืนกินทรัพยากรธรรมชาติและยอมตกเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจในการดูดกลืนเลือดมนุษย์ด้วยกันอย่างจำนน

เหล่านี้คือคลื่นความเสียหาย คือภัยร้ายจากการบริโภค ความไม่รู้จักพอของมนุษย์ ที่ได้ทิ้งร่องรอยให้เห็นไว้ในวิกฤติที่โลกกำลังประสบอยู่ ทั้งภาวะโลกร้อน มหันตภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ภูเขาน้ำแข็งถล่ม ไฟไหม้ป่า อุทกภัย ฯลฯ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนคือ
ผลพวงจาก ความบกพร่องในหน้าที่ ของการเกิดมาเป็นมนุษย์!!

ศาสนาอิสลามถือว่า นอกจากเป้าหมายการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์เพื่อเคารพสักการะพระผู้เป็นเจ้า(หมายถึง เอกองค์อัลลอฮ ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร) เพียงองค์เดียวแล้ว มนุษย์ยังมีหน้าที่ในฐานะผู้แทนในแผ่นดินของพระองค์ ผู้สืบต่อจากประชาชาติรุ่นแล้วรุ่นเล่า ศตวรรษแล้วศตวรรษเล่า เพื่อปกครอง ดูแล และแสวงหาประโยชน์จากแผ่นดินของพระองค์ ในฐานะผู้กตัญญูรู้คุณด้วยการยอมรับในเอกภาพของพระองค์และเชื่อฟังพระองค์

พระองค์ทรงเทิดเกียรติมนุษย์ด้วยการประทานเสรีภาพแก่มนุษย์ในการบริโภค และในการแสวงหาปัจจัยยังชีพจากสิ่งสรรค์สร้างของพระองค์ตามแต่ความต้องการของมนุษย์ ทรงให้มีแหล่งน้ำเพียงพอในการใช้สอย ประกอบสัมมาอาชีพ มีภูผาตรึงแผ่นดินไม่ให้สั่นคลอน มีป่าไม้กรองการไหลบ่าของลำน้ำ มีแผ่นดินเป็นแหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร และที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ มีแร่ธาตุมากมายใต้ผืนดินและผืนน้ำ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่มนุษย์

มนุษย์ผู้ไม่เคยและไม่มีความสามารถในการสรรค์สร้างทรัพยากรอันยิ่งใหญ่ กลับกลาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในการทำลายล้างทรัพยากรของพระองค์ ดังนั้น จึงไม่ใช่คำถามสำคัญอีกแล้วว่า เหตุใดเราจึงได้ยินได้ฟังข่าวคราวของมหันตภัยธรรมชาติบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และยิ่งถี่ขึ้นในช่วง 3-4 ปีให้หลังมานี้ จนแทบจะกลายเป็นปรากฏการณ์วันเว้นวันสำหรับมนุษย์ในยุคไฮเทคนี้เสียแล้ว


พิบัติภัยทางธรรมชาติในโลกปัจจุบัน


จากการรวบรวมสถิติการเกิดแผ่นดินไหว(โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐฯ)ตั้งแต่ปีค.ศ.1471-1994 หรือในช่วง 5 ศตวรรษหลังมานี้ พบว่าช่วงระยะแรกๆมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งห่างกันถึง 30-40 ปี และเริ่มขยับถี่ขึ้นในช่วงศตวรรษที่19 เป็นปีละ 1-2 ครั้ง หรือหากจะเว้นวรรคบ้างก็เพียง 3-4 ปี แต่มาในศตวรษที่ 20 อัตราการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 5-10ครั้งหรือบางปีเกิดเหตุถึง 12 ครั้ง และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาทุกปีไม่มีเว้นวรรค

เพียงแค่มหันตภัยที่เกิดขึ้นในช่วงพ.ศ.2551(ค.ศ.2008)ปีเดียวก็มากพอที่จะบอกกับเราได้ว่า เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่ธรรมดาอีกต่อไป ความรุนแรงและความสุ่มเสียงในการเกิด มหันตภัยไม่มีสำนักงานใดรับรองได้ถึงความปลอดภัย หรือคาดคะเนได้แม่นยำว่าจะเกิดเหตุที่ใดและเมื่อไร สำหรับวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเป็นมหันตภัยครั้งมหึมาในรอบปีนี้ คงไม่พ้นพายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2551 บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี และนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ที่กวาดชีวิตผู้คนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 124,000 คน (ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ) และอย่างไม่เป็นทางการคาดการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 300,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นเหตุพายุหมุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติพม่า

ถัดจากโศกนาฏกรรมนาร์กิสเพียงแค่ 8 วัน โลกก็ต้องตื่นตระหนกอีกครั้งกับข่าวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเขตเหวินฉวน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเฉินตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน เมื่อวันที่12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 จำนวนยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงเฉียด 70,000คน และตามติดมาด้วย Aftershock มากกว่า 6,000 ครั้ง ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ส่วนครั้งที่นับว่าร้ายแรงที่สุดคือแผ่นดินไหวในปีพ.ศ.2099 (ค.ศ.1556) บริเวณภาคกลางของประเทศจีน ในพื้นที่ชุมชนที่ผู้คนขุดเจาะถ้ำหินที่ไม่แข็งนักเป็นที่อยู่อาศัย แผ่นดินไหวส่งผลให้ถ้ำถล่มกลบชีวิตผู้คนไปประมาณ 830,000ราย

24 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 เกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรง และปานกลางใน 3 ประเทศ ได้แก่ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ขณะที่ในวันเดียวกัน สหรัฐฯและแม็กซิโกกำลังประสบอุทกภัยอย่างหนักจากอิทธิพลของพายุเฮอริเคนดอลลี

30 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5.4 ริคเตอร์ ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่เคยสั่นสะเทือนพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแถบเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในรอบกว่า 1 ทศวรรษ และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้ สหรัฐฯประสบกับพายุโซนร้อนต่อเนื่องกันหลายระรอก นับจาก กุสตาฟ ฮันน่า และล่าสุดคือ เฮอริเคน”ไอค์”ในมณฑลเทกซัส

เหล่านี้ยังไม่นับเหตุการณ์โคลนถล่ม เหมืองระเบิดและอุทกภัยที่กระจัดกระจายอยู่ในอีกหลายๆ พื้นที่ในปัจุบัน ซึ่งคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพิบัติภัยทางธรรมชาติเหล่านี้ มีสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมาจากการถลุงใช้ทรัพยากรอย่างไม่ปรานี ความเห็นแก่ตัว และความละโมบไม่รู้จักพอของมนุษย์ พร้อมๆกับความไม่รับผิดชอบในการจัดการ ดูแล ตลอดจนพฤติกรรมนิยมบริโภคสุดขีดของผู้คนในยุคแห่งความศิวิไลซ์ ที่กำลังกลับคืนสู่ยุคไร้อารยธรรมทีละคืบทีละศอก

ยังไม่เพียงพออีกหรือที่มนุษย์จะรู้สึกตัว และตื่นมาพบกับความจริงที่ว่า พิบัติภัยที่กำลังคุกคามโลกเราทุกวันนี้ คือร่องรอยการกระทำของหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง !


พิบัติภัยในทัศนะอิสลาม

คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับความเสียหายบนหน้าแผ่นดินนี้ตั้งแต่ 1,400 กว่าปีมาแล้วว่า

"ความหายนะได้เกิดขึ้นแล้วทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้

เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบขึ้น โดยที่หวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว"

[อัล-กุรอาน30:41]

สำหรับจากมุมมองอิสลามแล้ว พิบัติภัยธรรมชาติไม่ใช่แค่ปัญหาที่ทำให้ขบคิดว่ามีที่มาอย่างไร มีทางป้องกันแก้ไขอย่างไร แต่อิสลามยังใช้ให้พินิจพิจารณา ใคร่ครวญจากอุทาหรณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากปรากฏการณ์แห่งพิบัติภัยเหล่านั้น เพื่อให้มนุษย์สำนึก ตื่นตัว และยึดมั่นอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง

ข้อความจากคัมภีร์อัล-กุรอานข้างต้น ได้มีนักอรรถาธิบายคัมภีร์ที่เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในโลกอิสลาม ให้ความหมายว่า ความเสียหายต่างๆบนหน้าแผ่นดิน เป็นผลมาจากการฝ่าฝืน และการทำผิดของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ฝ่าฝืนพระเจ้า ก็เท่ากับก่อความเสื่อมเสียในแผ่นดินของพระองค์ จึงเท่ากับว่าผลจากการเนรคุณของมนุษย์ต่อความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานให้มนุษย์นั้น ก็คือเคราะห์กรรมที่มาจากน้ำมือของมนุษย์เอง

มหันตภัยที่เราได้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เสมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เราเห็นถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติด้วยร่องรอยของประชาชาติรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ ให้รู้จักใช้ปัญญา ใคร่ครวญถึงสิ่งที่ประชาชาติในอดีตได้เคยประสบมาก่อน.


ที่มา... http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=4&id=532.


0 ความคิดเห็น: