แม้จะใช้ความพยายามจดจ่ออยู่กับนัก เต้น, นักร้อง จิตรกรและศิลปะคนอื่นๆ ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับงานที่หาได้ยากมากนี้ก็ตาม แต่สิ่งดึงดูดความสนใจของไคโรกลับอยู่ที่อื่น อาจจะเป็นสิ่งย้ำเตือนจากคืนหนึ่งเมื่อ 1,000 ปีก่อน ตามที่ตำนานได้กล่าวไว้ นกแร้งตัวหนึ่งได้มอบชื่อที่เป็นลางร้ายให้แก่เมืองใหม่นี้
แผนที่เก่าแก่ของไคโร อียิปต์ (ภาพซ้าย) แผนที่ในปี 1492 โดย Schedel, (ภาพขวา) แผนที่วาดโดยศิลปินไม่ทราบชื่อ ศตวรรษที่ 16
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.969 นายพลเกาฮัรฺ ในนามของกาหลิบราชวงศ์ฟาติมิด เพิ่งพิชิตเมืองอัล-ฟุสตัต เมืองหลวงของอียิปต์ในขณะนั้นได้ และได้เลือกพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเป็นที่ตั้งพระราชวังหลัง ใหม่เพื่อเป็นที่ประทับของกาหลิบเมื่อพระองค์มาเรียกสิทธิ์รางวัลของพระองค์ โดยรอบพื้นที่นี้ มีคนงานยืนถือพลั่วในมือ รอฟังเสียงกระดิ่งที่ผูกกับเชือกรอบนอกพื้นที่ ตามแผนของเขา นายพลเกาฮัรฺจะสั่นกระดิ่งเมื่อดาวเคราะห์อยู่ในมุมที่ดีที่สุด แต่เมื่อดาวอังคารขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของมัน นกแร้งตัวหนึ่งโฉบลงมาเกาะบนเชือกนี้ทำให้กระดิ่งดัง บรรดาคนงานจึงเริ่มลงมือขุด และเมืองนี้จึงกลายเป็น “นักรบ” ในภาษาอาหรับคือ “อัล-กอฮิรอ” ชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนไปในภายหลังเป็น “ไคเร” และ “ไคโร”
ก่อนจะมาถึงคืนอันเป็นลางนั้น เมืองหลวงของอียิปต์ได้ย้ายขึ้นลงตามลุ่มแม่น้ำไนล์มาเป็นเวลา 5,000 ปี เปลี่ยนชื่อและสถานที่ตั้งไปตามความปรารถนาของผู้พิชิตและราชวงศ์ต่างๆ ครั้งที่เพิ่งผ่านมา คือเมื่อครั้งที่กาหลิบอัล-มุอิซเข้าโจมตีอียิปต์ เมืองหลวงคือเมืองมิสร์ ที่ปกครองโดยชาวโรมัน ซึ่งมุสลิมคนแรกผู้พิชิตอียิปต์ได้ตั้งชื่อให้ในปี 641 ว่า ฟัล-ฟุสตัต
เช่นเดียวกับไคโร ชื่อเมืองและที่ตั้งของอัล-ฟุสตัต ที่นักโบราณคดีเพิ่งจะขุดค้นพบซากของมันหลังจาก 800 ปี ก็ถูกเลือกโดยนกตัวหนึ่ง คือนกพิราบที่วางไข่ในกระโจมที่พักของ อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาส ชาวอาหรับผู้พิชิตอียิปต์ ขณะที่เขากำลังจะเดินทัพไปยังอเล็กซานเดรีย อัมรฺได้ประกาศให้จุดนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อเขาเดินทางกลับมาอเล็กซานเดรียด้วยชัยชนะ เขาได้สั่งให้ทหารสร้างที่พักของพวกเขารอบกระโจมนั้น แล้วให้ชื่อแก่เมืองใหม่นี้ว่า “เมืองแห่งกระโจม” ต่อมาภายหลังมีการตั้งมัสญิดหลังหนึ่งขึ้นบนพื้นที่กระโจมหลังนั้น คือมัสญิดอัมร์ ซึ่งเป็นอาคารทางศาสนาหลังแรกของอิสลามในอียิปต์
ทางเข้ามัสญิด อัมร์ อิบนฺ อัล-อาส หรือเรียกว่า มัสญิดของอัมร์ ก่อสร้าง
ครั้งแรกใน ค.ศ. 642 เพื่อเป็นศูนย์กลางฟุสตัต เมืองหลวงแห่งใหม่ของอียิปต์
โครงสร้างดั้งเดิมเป็นมัสญิดหลังแรกที่สร้างขึ้นในอียิปต์ และในทวีปแอฟริกา
ยุคหลังจากการพิชิตชัยของฟาติมิด อัล-ฟุสตัดยังคงเป็นนครหลวงของอียิปต์ต่อไป ถึงแม้ว่าไคโรที่อยู่ใกล้เคียงกำลังเจริญเติบโตขึ้น มันยังคงเป็นราชสำนักที่สำคัญสำหรับกาหลิบอยู่ ทั้งพระราชฐาน ข้าทาสบริวาร ฝ่ายบริหาร และกองทัพ อัล-ฟุสตัตเป็นเมืองหลวงอย่างแท้จริงเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น นักท่องเที่ยวต่างพิศวงในความงดงามของมัน นักภูมิศาสตร์ชื่อ อิบนฺ เฮากัล ได้เขียนไว้เมื่อปี 987 ว่า อัล-ฟุสตัตในสมัยนั้นมีขนาดหนึ่งในสนามของแบกแดด เป็นเมืองที่มีถนนร่มรื่น มีสวน และตลาดที่สวยงามด้วยบ้านเรือนที่สูงถึงเจ็ดชั้น และกว้างขวางพอที่จะรองรับประชาชนได้ 200 คน และเกือบ 70 ปีต่อมา นาซิร อี คุสโรว์ ชาวเปอร์เซีย ประหลาดใจกับสิ่งของเครื่องใช้ที่น่าอัศจรรย์ในตลาดฟุสตัต เครื่องดินเผาสีเหลืองประณีตบรรจงจนเขาสามารถมองเห็นมือตัวเองผ่านมันได้, แก้วใสสีเขียวมีค่า, ผลึกหิน, กระดองเต่า และความหลากหลายของผลไม้ ดอกไม้ และผัก แม้แต่ในช่วงฤดูหนาว
ในระหว่างนั้น กาหลิบอัล-มุอิซได้ทำการตัดสินใจครั้งสำคัญคือ เขาจะย้ายพระราชฐานของเขาไปยังไคโร อียิปต์ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 300 ปี เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งที่ปกครองโดยผู้ว่าราชการที่ถูกแต่งตั้งจากศูนย์กลาง อำนาจของมุสลิมอย่างดามัสกัส, มะดีนะฮ์ และแบกแดด บัดนี้จะได้เป็นศูนย์กลางอำนาจในตัวของมันเองแล้ว และพื้นที่ที่มีชื่อว่า อัล-กอฮิรอ จะได้เป็นเมืองหลวงของมัน
ขณะนั้น พื้นที่ราชสำนักเป็นสถานที่น่าทึ่ง ที่ทอดยาวจากบาบ-อัล-ฟุตุฮ์ ปัจจุบัน ไปถึง บาบ ซุวัยลา, และจากบาบ อัล-ฆุรอยยิบ สุดถึงมัสญิดอัล-อัซฮัร ไปจนถึงถนนคอลก์ คือกำแพงหนาขนาดทหารม้าสองคนสามารถขี่ม้าเคียงกันไปบนนั้นได้ และยาวมากจนต้องสร้างประตู 7 แห่ง เพื่อให้เพียงพอสำหรับการเข้าออกได้ ภายใน มีพื้นที่แห่งหนึ่งขนาดครึ่งตารางไมล์คือเราะฮ์บา (จัตุรัสแห่งหนึ่งซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า คาน อัล-คอลิลี) ที่กว้างใหญ่จนทหาร 10,000 คนสามารถเดินขบวนในนั้นได้ ทางด้านตะวันออกคือพระราชวังของ อัล-มุอิซ นักประวัติศาสตร์ชื่อมักริซีกล่าวในภายหลังว่า พระราชวังแห่งนี้ ที่กินพื้นที่เกือบหนึ่งในห้าของบริเวณทั้งหมด มี “สี่พันห้อง” หนึ่งในนั้นคือห้องตำหนักมรกตที่มีเสาทำด้วยหินอ่อน อีกห้องหนึ่งคือ “ตำหนักสีทอง” ตำหนักหรูหราที่กาหลิบนั่งอยู่บนบัลลังก์สีทอง ห้อมล้อมด้วยมหาดเล็กและข้าราชบริภารของเขาที่เฝ้ารอรับใช้ในเทศกาลต่างๆ ของอิสลาม เบื้องหลังคือลวดลายเส้นสีทอง
ภาพวาดเมืองฟุสตัต เมืองหลวงเก่าของอียิปต์ วาดในปี 1903-1906
(โครงการกูเต็นเบิร์ก : หนังสือ “ประวัติศาสตร์อียิปต์โดย Rappoport เล่ม 11)
บริเวณโดยรอบกว้างใหญ่มาก นาซิรฺ-อี-คุสโรว์ กล่าวว่า มองจากที่ไกลมันดูเหมือนกับภูเขา และพระราชวังสวยงามเลิศหรูจนมีเพียงผู้ที่เคยไปที่นั่นเท่านั้นที่จะสามารถ บรรยายได้อย่างเหมาะสม คนหนึ่งที่เคยไปคือ วิลเลียมแห่งไทร์ เขาไปยังไคโรในปี 1168 พร้อมกับคณะทูตจากฝ่ายผู้ทำสงครามครูเสด เขาเขียนว่า พวกเขาถูกนำผ่านเฉลียงลึกลับที่ทอดยาวและประตูที่มียามประจำอยู่ ผ่านพระราชฐานเปิดกว้างแห่งหนึ่ง และทางเดินที่มีเสาหินอ่อน และผ่านไปทางตำหนักต่างๆ ที่มีเพดานบุทอง มีน้ำพุหินอ่อน มีนกที่มี “ขนน่าพิศวง” และสัตว์ต่างๆ “ราวกับช่างเขียนฝีมือดีได้พรรณนาเอาไว้ หรือการเสกสันของกวี...”
ในที่สุด เขากล่าวว่า พวกเขามาถึงห้องที่มีบัลลังก์ซึ่ง “ชุดหรูหราหลายชั้นของพวกเขาป่าวประกาศถึงความงดงามของผู้เป็นนาย... และม่านหนาหนักที่เย็บปักด้วยทองและไข่มุกอยู่ด้านข้าง และบนบัลลังก์สีทองนั้น กาหลิบในเสื้อคลุมหรูหรายิ่งกว่าสถานะของกษัตริย์นั่งประทับอยู่”
อาคารใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นใน บริเวณนี้คือมัสญิดอัล-อัซฮัร สร้างขึ้นระหว่างปี 970 ถึง 972 ถูกสร้างใหม่หลายครั้ง แต่องค์ประองที่สำคัญของมันยังคงอยู่เช่นเดิม ห้าปีต่อมา อัล-อาซิส บุตรชายของกาหลิบได้อุทิศมัสญิดนี้ให้เป็นที่เรียนรู้ ก้าวสำคัญที่จะทำให้มันเป็นศูนย์กลางวิชาการที่สำคัญของศาสนาอิสลามในอีก 1,000 ปี ต่อมา โดยมีนักศึกษาจากทั่วโลกมารวมตัวกันมาเพื่อศึกษาวิทยาการ กฎหมาย และคำสอนของอิสลาม และในภาษาอาหรับทั้งด้านไวยากรณ์และวาทศิลป์ ในช่วงเริ่มต้น
มันเป็นเพียงมัสญิดหลังใหญ่ และเป็นฉากของการเข้ามาถึงอย่างเป็นทางการของกาหลิบอัล-มุอิซ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอียิปต์
อ่านต่อตอนต่อไป...
แปล : เยาวฮาเราะห์ ยอมใหญ่
แหล่ง ที่มา : http://www.muslimheritage.com/topics/default.cfm?TaxonomyTypeID=21&TaxonomySubTypeID=111&TaxonomyThirdLevelID=-1&ArticleID=1309
0 ความคิดเห็น: