มุสลิมใหม่ในโลกตะวันตก

กล่าวกันว่าเบื้องหลังตัวตนของมนุษย์แต่ละคนนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวสาระของประสบการณ์ชีวิตที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างหลากหลาย การได้อ่านงานเขียนที่สื่อเรื่องราวผ่านประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์จึงน่าตื้นเต้นเร้าใจ อันทำให้เนื้อหาของงานเขียนเป็นที่ดึงดูดใจผู้อ่าน ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ลุ่มลึก

งานเขียนของ วาริษาฮ์ อัมรีล เรื่อง “มุสลิมใหม่ในโลกตะวันตก” ก็เช่นเดียวกัน ได้สื่อเรื่องราวชีวิตอันหลากหลายของผู้คนมากมายในตะวันตกบนเส้นทางการเปลี่ยนศาสนามายอมรับนับถืออิสลาม ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้คงมิอาจสาธยายได้ครบทุกมิติในที่นี้ได้ แต่ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือความน่าสนใจอันเป็น “จุดเปลี่ยนของชีวิต” ที่ทำให้ชาวตะวันตกหันมายอมรับอิสลาม ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นผู้คนเหล่านี้มีความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ความเกลียดกลัว และอคติต่ออิสลามเป็นที่ตั้ง ฉะนั้น เส้นทางของการยอมรับอิสลามของผู้คนเหล่านี้จึงน่าติดตามยิ่งนัก

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของงานเขียนชิ้นนี้คือ ชาวมุสลิมใหม่ในโลกตะวันตกเหล่านี้ ซึ่งมีพื้นฐานความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวแบบคริสเตียน (บางคนเป็นยิว) มาจากหลากหลายอาชีพการงาน ช่วงวัยที่ต่างกัน และมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล บางคนเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นนักการเมืองของประเทศมหาอำนาจ เป็นนักกีฬาที่มีคนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นศิลปินที่โด่งดัง เป็นนักวิชาการที่โดดเด่น เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นมิชชั่นนารีคริสเตียน เป็นนักการทูตของหลาย ๆ ประเทศ เป็นนักกิจกรรม นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ บางคนหันมายอมรับอิสลามในช่วงวัยที่เป็นไม้ไกล้ฝั่ง บางคนยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว บางคนอยู่ในวัยกลางคน แต่ที่ไม่เหมือนใครทั้งหมดคือเด็กอายุเพียงแค่ 10 ขวบที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาอย่างโชกโชน แต่ท้ายที่สุดก็สมัครใจเข้ามายอบรับอิสลาม

เหตุผลเบื้องลึกที่ทำให้ “มุสลิมใหม่ในตะวันตก” ที่ระบุอยู่ในงานเขียนชิ้นนี้หันมายอมรับอิสลาม มิได้เกิดจาก “ปัจจัยแวดล้อม” เช่นต้องแต่งงานกับชาวมุสลิมหรืออยู่อาศัยในชุมชนมุสลิม ฯลฯ แต่เกิดจาก “ปัจจัยทางปัญญา” อันหมายถึงการยอมรับอิสลามผ่านกระบวนการใคร่ครวญอย่างเข้มข้นเป็นระบบ ขบคิดพิจารณาโดยมีพื้นฐานความเชื่อเดิมของตน (คริสเตียน) เป็นที่ตั้ง แล้วใช้เนื้อหาสาระ ในคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นตัวทดสอบความจริง อันเป็นความจริงของประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ในอดีต
หลายคน (ก่อนเข้ารับอิสลาม) ตั้งธงตรวจสอบความผิดพลาดของเนื้อหาในคัมภีร์อัล-กุรอาน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมจำนน เป็นการยอมจำนนด้วยการใช้ปัญญาอย่างไร้ซึ่งอคติ เป็นการยอมจำนนโดยการเรียนรู้อิสลามจากหลักการอิสลาม มิใช่การเรียนรู้อิสลามจากพฤติกรรมมุสลิม

อ่านงานเขียนชิ้นนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้เส้นทางการเข้ารับอิสลามของชาวตะวันตกแล้ว เนื้อหาสาระที่ซ้อนอยู่ข้างในยังสะท้อนให้เข้าใจในระดับหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรม แบบแผนทางสังคม และวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน ตลอดจนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอิสลามในโลกตะวันตกและสถานะของมุสลิมในประเทศเหล่านั้น ซึ่งถึงแม้จะไม่ละเอียดมากมายนัก แต่ก็ทำให้เข้าใจภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง

ข้อสำคัญอีกประการคือ มุมมองของชาว “มุสลิมใหม่ในตะวันตก” (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษา) ที่มีต่อศาสนาอิสลามนั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นมุมมองที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์ อดทนอดกลั้น และสอดรับกับบริบททางสังคมของคนตะวันตกเอง ดังเช่น วิลเลียม เวบบ์ อิหม่ามมุสลิมใหม่ในสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “อิหม่ามที่มีคุณภาพก็คืออิหม่ามที่ต้องมีความรู้ด้านศาสนาและรู้จักชุมชนที่เขาต้องให้ความเห็นด้านศาสนา เราต้องการนักการศาสนาที่เป็นอเมริกันแท้ รู้เรื่องศาสนาและเข้าใจสังคมอเมริกัน…”

ในฐานะที่เป็นมุสลิมใหม่ชาวตะวันตก เวบบ์พบว่าตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก “มุสลิมใหม่ตะวันตกมักสับสนเมื่อพูดถึงประเพณี เราถูกสอนมาว่า อิสลามตามประเพณีสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ แต่ผมว่าภาระหน้าที่ของเราชาวมุสลิมตะวันตกคือต้องสังเคราะห์และแสดงให้เห็นถึงอิสลามแบบตะวันตกต่างหาก…ในขณะเดียวกัน ทางด้านจิตวิญญาณ ผมก็มีปัญหาเรื่องความทันสมัย เพราะการขาดหายไปของพระเจ้า การขาดหายไปของพระผู้สร้าง ทำให้ผลผลิตของความทันสมัยออกมาเป็นฮิตเล่อร์และมุสโสลินี แต่เราสามารถเลือกเฉพาะส่วนที่ดีของความทันสมัยได้ ผมไม่ต้องการสูญเสียอัตลักษณ์ของความเป็นชาวตะวันตก ผมไม่ต้องการแกล้งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียเพื่อให้ดูเป็นมุสลิม ผมเคยเจอพี่น้องมุสลิมใหม่หลายคนที่ประสบปัญหาทำนองนี้ ผมเจอมุสลิมใหม่ที่ไม่ต้องการแต่งกายแบบชาวตะวันตก ทำไมล่ะ? ก็คุณเป็นชาวตะวันตกมิใช่หรือน้องชาย! ท่านศาสนทูตแทบไม่เคยบอกให้ใครเปลี่ยนการแต่งตัวหรือเปลี่ยนชื่อเลยยกเว้นชื่อเขามีความหมายไม่ดี ”

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น งานของ วาริษาฮ์ อัมรีล ยังชี้ให้เห็นถึงกระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วของอิสลามในตะวันตก แน่นอนว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 อิสลามถูกมองจากคนส่วนใหญ่ในตะวันตกว่าเป็นแรงจูงใจให้มุสลิมใช้ความรุนแรงและการก่อการร้าย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความหวาดระแวงนี้ ก็ทำให้ชาวตะวันตกหันมาสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอิสลามมากขึ้น ดูได้จากยอดขายหนังสืออิสลามที่พุ่งพรวดขายดิบขายดี กลายเป็นหนังสือยอดฮิตในตะวันตก คัมภีร์อัล-กุรอานฉบับแปลภาษาอังกฤษเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ระยะหลังการเติบโตของอิสลามในตะวันตกมิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยผู้อพยพชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการเปลี่ยนศาสนามายอมรับอิสลามกันมากขึ้นอีกด้วย จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ตะวันตกกลายเป็นดินแดนที่อิสลามเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

ปรากฏการณ์เช่นนี้มิได้จะหมายความว่า อิสลามจะเข้ามาเป็นใหญ่ในโลกตะวันตกอย่างที่หลายฝ่ายพยายามที่จะเชื่อมโยงว่าอิสลามอาจเป็ยภัยคุกคามใหม่ในโลกตะวันตก แต่ประเด็นสำคัญคือปรากฏการณ์นี้จะทำหน้าที่เป็นบททดสอบสำคัญของกลุ่มประเทศในโลกตะวันตกเองที่พยายามอ้างมาตลอดถึงความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเคารพในกลุ่มคนที่คิดแตกต่างจากตน และการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม

0 ความคิดเห็น: